วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

อาณาเขตจังหวัดราชบุรีสมัยปี พ.ศ.2468

การแบ่งเขตการปกครองจังหวัดราชบุรีสมัยปี พ.ศ.2468 นี้ ผมคัดลอกมาจากหนังสือสมุดราชบุรี ซึ่งจัดพิมพ์โดยมณฑลราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2468 โดยการคัดลอกนี้ ผมได้พิมพ์ตัวอักษรตามแบบภาษาไทยที่ใช้เขียนในสมัยนั้น มิได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นภาษาไทยในปัจจุบันแต่อย่างใด ดังนั้นจึงอาจมีคำบางคำที่เขียนแตกต่างจากปัจจุบัน

คำแนะนำก่อนอ่าน
คำว่า ปัจจุบัน, เดี๋ยวนี้,ทุกวันนี้  ที่ปรากฏในบทความต่อไปนี้ หมายถึงปี พ.ศ.2468
มาตราส่วน ความยาว 100 เส้น เท่ากับประมาณ 4 กิโลเมตร
รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) = ปีพุทธศักราช (พ.ศ.) - 2,324

แผนที่นี้เป็นแผนที่ใหม่ใช้ประกอบจินตนาการในการอ่าน

อาณาเขตต์ แล ภูมิประเทศ

ปรากฏว่าเมื่อได้เริ่มจัดการปกครองท้องที่ในชั้นต้น คือ เมื่อ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) ได้แบ่งท่องที่เมืองราชบุรีออกเปน ๕ อำเภอก่อน แล้วภายหลังจึงได้จัดตั้งเพิ่มเติมขึ้นอีก ซึ่งในปัจจุบันนี้คงแบ่งเปน ๗ อำเภอ กับ ๒ กิ่งอำเภอ คือ 

อำเภอเมือง_ชั้นเดิม อำเภอนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลธรรมเสน เหนือที่ตั้งเมืองเดี๋ยวนี้ขึ้นไปประมาณ ๓๕๐ เส้น ครั้งนั้นยังเรียกว่าแขวง และมีพระรามบริรักษ์เปนนายแขวง ต่อมา ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากตำบลธรรมเสน มาตั้งในบริเวณเมืองเดี๋ยวนี้ และพระแสนท้องฟ้า (ป้อง  ยมคุปต์) ได้เปนนายอำเภอ แล้วได้มีการเปลี่ยนตัวนายอำเภอกันเปนลำดับมา แต่ที่ว่าการอำเภอคงได้ตั้งอยู่ในตำบลในเมืองนี้เอง

อำเภอลาดบัวขาว_คืออำเภอท่ามะกาเดี๋ยวนี้  อำเภอนี้ได้แยกเอาท้องที่จากอำเภอท่าผาบ้าง (คือ อำเภอบ้านโป่ง) กับอำเภอธรรมเสน (คือ อำเภอเมือง) บ้าง ตั้งเปนอำเภอขึ้นที่ตำบลลาดบัวขาว จึงได้นามว่าอำเภอลาดบัวขาว  ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาลำน้ำแม่กลอง เหนือจากที่ตั้งเมืองขึ้นไปประมาณ ๑,๐๐๐ เส้น มีอาณาเขตต์ติดต่อกับเมืองกาญจนบุรี  ภายหลังได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ตำบลพงตึก เหนือที่เดิมขึ้นไปอีกประมาณ ๒๐๐ เส้น แล้วเปลี่ยนนามว่าอำเภอพระแท่น ถึง ร.ศ.๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓) ได้ย้ายที่ว่าการจากตำบลพงตึกไปตั้งที่ตำบลท่ามะกา ทางฝั่งซ้ายลำน้ำแม่กลอง เหนือจากที่เดิมขึ้นไปอีก ๑๒๐ เส้น และคงเรียกว่าอำเภอพระแท่น ต่อมาจน พ.ศ.๒๔๖๐ จึงได้เปลี่ยนนามเปนอำเภอท่ามะกา ตลอดมาจนทุกวันนี้

อำเภอบ้านโป่ง_เดิมอำเภอนี้เรียกว่าอำเภอท่าผา เพราะตั้งอยู่ที่ตำบลท่าผา ต่อมาเมื่อ ร.ศ.๑๑๔ (พ.ศ.๒๔๓๘) จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ตำบลบ้านโป่ง ริมฝั่งซ้ายลำน้ำแม่กลอง ใต้ที่เดิมลงมาประมาณ ๘๐ เส้น มีอาณาเขตต์ทางทิศตวันออกติดต่อกับเมืองนครปฐม ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

อำเภอโพธาราม_เดิมเรียกว่าอำเภอเจ็ดเสมียน ต่อเมื่อ ร.ศ.๑๑๔ (พ.ศ.๒๔๓๘) จึงได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลโพธาราม ทางฝั่งซ้ายลำน้ำแม่กลอง เหนือจากที่เดิมขึ้นไปเปนระยะทางประมาณ ๒๐๐ เส้นและคงปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

อำเภอคลองแพงพวย_คืออำเภอดำเนินสดวกเดี๋ยวนี้ ได้ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ตั้งอยู่ที่ปากคลองแพงพวย  ใต้ที่ว่าการเมืองเดี๋ยวนี้ลงไป มีอาณาเขตต์ติดต่อกับจังหวัดสมุทสงคราม ครั้น ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งในคลองดำเนินสดวก ณ ที่บ้านศรีสุราษฎร์ ตำบลหลักหก แล้วถึง ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ศาลาห้าห้อง ตำบลท่านัด ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๕ จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ข้างวัดโชติทายการาม ตำบลดำเนินสดวก ตลอดมาจนทุกวันนี้ 

อำเภอปากธ่อ_เดิมอำเภอนี้เรียกว่าอำเภอท่านัดวัดประดู่  ได้ตั้งขึ้นเมื่อ ร.ศ.๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) มีอาณาเขตต์ติดต่อกับจังหวัดสมุทสงคราม ถึง ร.ศ.๑๑๙ (พ.ศ.๒๔๔๓) ได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ตำบลวัดเพลง แลเปลี่ยนนามว่า อำเภอแม่น้ำอ้อม  ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๖ ได้โอนอำเภอนี้ไปขึ้นแก่จังหวัดสุมทสงคราม แต่พอรุ่งขึ้น พ.ศ.๒๔๕๗ ได้มีการแบ่งปันตำบลท้องที่ในระหว่างจังหหวัดราชบุรี จังหวัดสุมทสงคราม แลจังหวัดเพ็ชร์บุรี อำเภอนี้จึงกลับโอนมาขึ้นจังหวัดราชบุรีอีก ครั้ง พ.ศ.๒๔๕๘ จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ตำบลปากธ่อริมทางรถไฟหลวงสายใต้ เรียกว่าอำเภอปากธ่อ ส่วนที่อำเภอแม่น้ำอ้อมเดิม คงยุบลงเปนกิ่งอำเภอ เรียกว่ากิ่งวัดเพลง ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

อำเภอหัวโพ_ได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ โดยโอนตำบลต่างๆ จากอำเภอดำเนินสดวก อำเภอโพธาราม และอำเภอบ้านโป่ง มารวมตั้งเปนอีกอำเภอ ๑ ชั้นเดิมเรียกว่าอำเภอลำพระยา เพราะมีลำน้ำเก่าชื่อว่า ลำพระยาเปนหลักสำคัญ ต่อมา พ.ศ.๒๔๖๐ จึงได้เปลี่ยนนามเรียกว่าอำเภอหัวโพ เพราะที่ว่าการอำเภอได้ตั้งอยู่ในตำบลนั้น ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๖๑ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งเปนถาวรที่ตำบลบางแพใต้อีกครั้ง ๑ ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

ในบัดนี้ อาณาเขตต์จังหวัดราชบุรีคงมี คือ ทิศเหนือต่อกับจังหวัดกาญจนบุรี ในเขตต์อำเภอท่ามะกา ทิศตวันตกต่อกับเขตต์พม่า ในท้องที่อำเภอเมืองราชบุรี และต่อกับเขตต์จังเพ็ชร์บุรีในเขตต์อำเภอปากธ่อ ทิศใต้ต่อกับจังหวัดเพ็ชร์บุรี ในเขตต์อำเภอปากท่อแลต่อกับจังหวัดสมุทสงคราม ในเขตต์อำเภอปากธ่อและอำเภอดำเนินสดวก  ทิศตวันออกต่อหับจังหวัดสมุทสาครในเขตต์อำเภอดำเนินสดวก ต่อกับจังหวัดนครปฐมในเขตต์อำเภอดำเนินสดวก อำเภอหัวโพ และอำเภอบ้านโป่ง รวมเนื้อที่ในอาณาเขตต์จังหวัดราชบุรีประมาณ ๕,๐๐๐ ตารางกิโลเม็ตร์ หรือ ๓,๑๒๕,๐๐๐ ไร่

ภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรี ในตอนทิศเหนือรอบนอกและทิศตวันตกที่ต่อกับเขตต์พม่า เปนป่าไม้ใหญ่และภูเขาสูง ซึ่งเปนที่กันเขตต์แดนระหว่างไทยกับพม่า ทิศตวันออกแลทิศเหนือรอบในเปนที่ราบเพาะปลูกข้าวและไร่ พรรณไม้ต่างๆ ทิศใต้เปนทุ่งลุ่มราบ เปนที่ทำสวนและนาโดยตลอด

สรุปกล่าวได้ว่า จังหวัดราชบุรีมีอาณาเขตต์ท้องที่กว้างขวางและติดต่อกับจังหวัดที่สำคัญตลอดจนอาณาเขตต์ของต่างประเทศและภูมิประเทศก็มีพร้อมทั้งป่าเขาและทุ่งท่า พื้นที่จึงอำนวยผลแก่การทำมาหาเลี้ยงชีพของพลเมืองได้มาก การหาเลี้ยงชีพของราษฎร จึงมีทั้งการทำนา ทำไร่ ที่เปนสำคัญ ตลอดจนการทำป่าไม้และแร่ธาตุโลหะต่างซึ่งมีอยู่ในท้องที่พร้อมบริบูรณ์ ประกอบทั้งทางคมนาคมก็สดวก โดยมีทางรถไฟติดต่อไปมาถึงกันได้หลายอำเภอตลอดถึงกรุงเทพพระมหานคร และจังหวัดต่างๆ ในที่ไม่มีทางรถไฟ ก็มีถนนหลวงสำหรับรถทุกชนิดไปมาได้ มีรถสำหรับรับส่งคนโดยสารไปมาถึงกันได้สดวก ทั้งมีแม่น้ำลำคลองติดต่อไปมาถึงกันได้ทั้งจังหวัด และมีเรือเมล์สำหรับรับส่งคนโดยสารเดินประจำอยู่เปนนิตย์

ที่มา :
มณฑลราชบุรี. (2468). สุมดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น