วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 1 กำเนิดศูนย์

จากการที่พม่ามีการปกครองในระบบสังคมนิยมในนามของ พรรคสังคมนิยมพม่า โดยมีพรรคทหารพรรคเดียวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 ได้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ มีการคอรัปชั่นในวงราชการอย่างมหาศาล ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพมาโดยตลอด จนกระทั่งเดือนสิงหาคม พ.ศ.2530 นักศึกษา ประชาชนทั่วประเทศ ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และรัฐบาลทหารได้ส่งกำลังทหารเข้าล้อมปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นักศึกษาและประชาชนจึงหลบหนีเข้าไปอยู่กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย-พม่า และบางส่วนได้หลบหนีเข้าลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศไทย

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดย พล.อ.ซอ หม่อง ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2531 และได้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มต่อต้านต่างๆ ทำให้นักศึกษาและประชาชนพม่าหลบหนีเข้าร่วมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยและหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น จากนั้นรัฐบาลทหาร พล.อ.ซอ  หม่อง ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2533 แต่รัฐบาลพม่ากำหนดเงื่อนไขหลายประการที่ส่อให้เห็นว่ารัฐบาลทหารคงจะไม่ยอมโอนอำนาจจากการบริหารประเทศให้แก่ พรรค National League for Democracy  (NLD) ของนางออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งมากที่สุด

ดังนั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2533 จึงเกิดการประชุมประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษา ประชาชน พระสงฆ์ และนักการเมือง ซึ่งรัฐบาลทหารได้ใช้กำลังปราบปรามอย่างเฉียบขาด ยังผลให้นักการเมือง นักศึกษา ครู อาจารย์ พระสงฆ์ ฯลฯ เป็นจำนวนมากต้องหลบหนีเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย

กำเนิดศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย
เกี่ยวกับเรื่องเหตุการณ์ในพม่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญตลอดมา เนื่องจากปัญหาที่อาจมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับปัญหาความมั่นคงและภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาของนานาชาติ รัฐบาลไทยจึงมีการกำหนดมาตรการการดำเนินการต่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวพม่าด้วยความรอบคอบ มีการพิจารณาทบทวนแก้ไขหลายครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ นายอานันท์  ปันยารชุน ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 อนุมัติให้จัดตั้ง "ศูนย์นักศึกษาพม่า" ขึ้น ณ บ้านมณีลอย ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กำนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมนักศึกษาพม่าที่หลบซ่อนอยู่ในราชอาณาจักรไทย

ที่ตั้งศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
ภาพจาก Google 

โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และอนุมัติงบประมาณจากงบกลางประจำปี 2534 เป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการและดำเนินงานศูนย์นักศึกษาพม่า ในระยะแรกเป็นเงินทั้งสิ้น 13,857,985 บาท โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างซ่อมแซมเตรียมสถานที่ตั้งแต่วันที่  3 สิงหาคม 2535 และได้รับนักศึกษาพม่าเข้าพักอาศัยในศูนย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม  2535 เป็นต้นมา

ภายในศูนย์ฯ มีพื้นที่ 200 ไร่ มีอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
  1. อาคารอำนวยการ  1 หลัง
  2. อาคารรักษาการณ์   2 หลัง
  3. อาคารสื่อสาร  1 หลัง
  4. อาคารพยาบาล 1 หลัง
  5. บ้านพักเจ้าหน้าที่  4 หลัง
  6. เรือนพักเจ้าหน้าที่ (ห้องแถว) 1 หลัง
  7. โรงนันทนาการ  1  หลัง
  8. โรงอาหาร  1 หลัง  
  9. อาคาเรียนรวม 2 หลัง
  10. อาคารเรียนชั่วคราว  1 หลัง
  11. โรงนอนที่ 1 อาคารคอนกรีต 2 ชั้น   1   หลัง
  12. โรงนอนที่  2 อาคารไม้ชั้นเดียว  1  หลัง
  13. โรงนอนที่ 3 อาคารเล็ก  2 หลัง
  14. เรือนแถวที่พักครอบครัว   2  หลัง
  15. โรงนอนถาวร   8  หลัง
  16. โรงนอนชั่วคราว (คสล.)  4  หลัง
  17. โรงนอนชั่วคราว (ไม้มุงจาก)  28  หลัง
  18. โรงจ่ายอาหารแห้ง   1   หลัง
  19. โรงครัวประกอบอาหาร  4  หลัง
  20. ที่ทำการชั่วคราว  UNHCR 1 หลัง
  21. อาคารสัมภาษณ์และเยียมญาติ  1  หลัง
อ่านต่อ ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 2 ใครบ้างอยู่ในศูนย์ฯ


ที่มาข้อมูล
ปรีชา  เรืองจันทร์. (2543). ก๊อดอามี่  มณีลอย ปลุกราชบุรีเขย่าโลก. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น