วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 3 อยู่กันอย่างไรในมณีลอย

ต่อจาก
ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 1 กำเนิดศูนย์
ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 2 ใครบ้างอยู่ในศูนย์ฯ

เนื่องจากพื้นฐานสังคมพม่ามีชนกลุ่มน้อยมาก จึงมีการแยกกลุ่มต่างๆ ในศูนย์มณีลอยอย่างชัดเจน เช่น โรงเรียนก็แบ่งเป็นโรงเรียนมอญ พม่า กะเหรี่ยง และโรงเรียนรวม วัดก็แบ่งเป็นวัดพม่า วัดมอญ การตั้งกระท่อมอยู่แยกจากอาคารที่ UNHCR จัดทำให้ ก็จะแยกกลุ่มกันชัดเจน กิจกรรมต่างๆ เช่น กีฬาหรืองานส่วนกลางอื่นๆ ก็จะแยกกันทำ เมื่อแยกเป็นกลุ่มหลายกลุ่ม จึงเป็นเหตุให้มีการขัดแย้งกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มมอญกับพม่า ค่อนข้างรุนแรงมากถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันเลยก็มี

ลักษณะนิสัยของนักศึกษาภายในศูนย์ ค่อนข้างกร้าวร้าว ดื้อดึง ดันทุรัง หากคิดทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ จะเอาอะไรต้องเอาให้ได้ ไม่คำนึงถึงระเบียบ กฎเกณฑ์ที่มี ไม่เคารพกติกา บางครั้งไม่ให้เกียรติประเทศไทยและคนไทย เพราะเขาเชื่อว่าประเทศไทยเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าสมัยกรุงศรีอยุธยา การปกครองกันเองภายในกลุ่มค่อนข้างเผด็จการ หากผู้นำกลุ่มคิดหรือสั่งให้ทำอะไร ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากใครบิดพลิ้วหรือปฏิบัตินอกแนวทางจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง และถูกต่อต้านในสังคมของหมู่พม่า บางครั้งถึงขั้นลงมือทำร้ายร่างกายกันเลยทีเดียว

กลุ่มนักศึกษาพม่าที่อยู่ในศูนย์ มักนอนตื่นสายมาก การประกอบอาหาร ทาง UNHCR มีอาหารปรุงสำเร็จไว้บริการ 3 มื้อ และมีอาหารอีกส่วนหนึ่งเป็นอาหารสด แจกให้ไปปรุงเอง โดยกำหนดแจกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  มีอุปกรณ์การปรุงให้พร้อมทุกอย่าง เช่น เตา ถ่าน น้ำมัน ข้าว น้ำปลา เนื้อหมู ผัก ไข่ไก่ เป็นต้น

การเรียนหนังสือ
การเรียนหนังสือจะมีโรงเรียนกลางหรือโรงเรียนรวม ดำเนินการโดยสำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (Catholic Office for Emergency Relief and Refugees - COERR) สอนทั้งวิชาการและวิชาชีพ โดยมีอาสาสมัครช่วยสอน มีภาษาอังกฤษ ฝึกอาชีพ พิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์ ช่างซ่อมเครื่องยนต์  นอกจากนั้นนักศึกษาแต่ละกลุ่มยังได้แบ่งไปเรียนตามโรงเรียนมอญ กะเหรี่ยงและพม่า แยกจากกันทำการสอนศิลปวัฒนธรรมและภาษาของแต่ละเชื้อชาติกันเอง การศึกษาทั้งหมดเป็นแบบให้เปล่า ส่วนกิจกรรมทางศาสนาก็เหมือนสังคมภายนอกทั่วไป มีทั้งวัด โบสถ์ และสุเหร่า โดยวัดแยกออกเป็นวัดมอญกับวัดพม่า มีพระสงฆ์รวม 15 รูป  

การสาธารณสุข
การเจ็บไข้ได้ป่วยรักษาฟรีทั้งหมด โดยหน่วยงาน International Rescue Committe (IRC) เป็นผู้ดูแล  การรักษาเบื้องต้น  หากเกินความสามารถ จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลของอำเภอ หรือโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีต่อไป ค่ารักษาพยาบาลทาง UNHCR จะรับผิดชอบจ่ายให้ทั้งหมด


สวัสดิการอื่นๆ
ศูนย์พยายามไม่ปล่อยนักศุึกษาเหล่านี้มีเวลาว่าง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการกร้าวร้าวและฟุ้งซ่าน  จึงพยายามจัดกิจกรรมต่างๆ ให้ทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่านักศึกษาเหล่านี้จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม เช่น การกีฬา การฝึกอบรม การสัมภาษณ์ (เตรียมไปประเทศที่สาม) การสำรวจความต้องการ การสอบถามปัญหาความเป็นอยู่ การตรวจสอบรายบุคคล การเช็คชื่อเป็นรายอาคาร การคุ้มเข้มบุคคลเป้าหมาย ฯลฯ

ส่วนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและของจำเป็นในชีวิต ทางศูนย์ฯ ก็จะจัดให้มีตลาดนัดสินค้าราคาถูก ในทุกวันเสาร์บริเวณถนนหน้าศูนย์นักศึกษาพม่า เวลา 07:00-11:00 น. และที่สำคัญเมื่อถึงวันที่ 15 ของทุกเดือน ทุกคนก็จะได้รับค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ทาง UNHCR จ่ายให้ในอัตรา ผู้ใหญ่ 800 บาท/คน เด็กโต อัตรา 400 บาท/คน และเด็กเล็ก ในอัตรา 200 บาท/คน

น้ำประปาบาดาล และไฟฟ้าภายในศูนย์ฯ เป็นการให้เปล่าทั้งหมด

คนไทยสมัครเป็นพม่า
จากความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดี (เพียงแต่ไม่อิสระเสรี มีอิสระเพียงอยู่ในศูนย์เท่านั้น)  ทั้งที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค การศึกษา สาธรณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  ล้วนแล้วแต่ UNHCR จัดแบบให้ฟรีทั้งหมด แถมยังมีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนให้อีกด้วย   

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ ชาว อ.ปากท่อ หลายคนที่ตกงาน และมีที่อยู่อาศัยรอบๆ ศูนย์แห่งนี้ มาสมัครขอเป็นนักศึกษาพม่า และขอพักพิงในศูนย์ฯ เป็นจำนวนมาก แต่ทางศูนย์ฯ ไม่สามารถรับไว้ได้

อ่านต่อ ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนจบ การบริหาร-การสนับสนุน และอวสานของศูนย์

ที่มาข้อมูล
ปรีชา  เรืองจันทร์. (2543). ก๊อดอามี่  มณีลอย ปลุกราชบุรีเขย่าโลก. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น