วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนจบ การบริหาร-การสนับสนุน และอวสานของศูนย์

ต่อจาก
ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 1 กำเนิดศูนย์
ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 2 ใครบ้างอยู่ในศูนย์ฯ
ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 3 อยู่กันอย่างไรในมณีลอย


โครงสร้างการบริหารงานของศูนย์ฯ
มีเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สังกัดสำนักงานจังหวัดราชบุรี เป็นหัวหน้าศูนย์  แบ่งงานออกเป็น 6 งาน คือ งานอำนวยการ งานทะเบียน งานบริหารการเงิน งานอนามัย  งานสงเคราะห์และสวสัดิการ  และงานรักษาความสงบเรียบร้อย โดยการบริหารงานนั้น ขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ผ่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีที่ได้รับมอบหมาย และประสานงานแนวนอนกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี และนายอำเภอปากท่อ



บทบาทการช่วยเหลือขององค์การเอกชนและ UNHCR
ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ อาทิ UNHCR ได้ให้ความสนใจปัญหานักศึกษาพม่าและเรียกร้องมิให้ไทยทำการผลักดันนักศึกษาพม่า กลับประเทศจนกว่าสถานการณ์ในพม่าจะมีความปลอดภัย โดยองค์การระหว่างประเทศและองค์การเอกชนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยองค์การต่างๆ ได้แก่
  • ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR (United Nations High Commissioner for Refugees) ให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายประจำเดือนแก่นักศึกษา ผู้ใหญ่คนละ 800 บาทต่อเดือน เด็กอายุ 15-18 ปี คนละ 400 บาทต่อเดือน เด็กอายุไม่เกิน 14 ปี คนละ 200 บาทต่อเดือน ค่าอาหารทั้งที่ประกอบเลี้ยง 3 มื้อ และอาหารแห้งสำหรับนักศึกษาอีกส่วนหนึ่งที่เข้าอยู่ภายหลังเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2542 เป็นต้นมา ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่พัก อาคารประกอบและสิ่งสาธารณูปโภคอื่นๆ ตามสมควร 
  • สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย หรือ COERR (Catholic  Office for Emergency Relief and Refugees) โดยกระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้องค์การนี้ เข้าช่วยเหลือนักศึกษาพม่าในศูนย์ด้วยการบริการด้านการศึกษา การฝึกอาชีพ การเรียนภาษาอังกฤษ พิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์ การฝึกอาชีพช่างซ่อมเครื่องยนต์
  • IRC (International Rescue Committe) ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยดำเนินการช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลเบื้องต้น  และด้านสาธารณูปโภค เช่น การกำจัดขยะ การบำบัดน้ำเสีย  

การเดินทางไปประเทศที่สาม
หลังจากนักศึกษาพม่ารายงานตัวเข้าขอพักอาศัยในศูนย์มณีลอยแล้ว จะมีการทำทะเบียนประวัติและผ่านกระบวนการทางกฏหมายไทยก่อน หลังจากนั้น UNHCR จึงรับตัวไปสัมภาษณ์ โดยในเบื้องต้นจะถามความสมัครใจของนักศึกษาก่อนว่าจะไปอยู่ประเทศใด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จากสถานฑูตหรือกงศุลของประเทศนั้นๆ จะทำการสัมภาษณ์ซ้ำอีกครั้ง เพื่อแยกประเภทบุคคลเข้าสู่ระบบงานที่พึงประสงค์ของประเทศเขา เมื่อมีอุปสงค์และอุปทานสอดรับกัน UNHCR ก็จะดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารที่จะประกอบการเดินทางไปประเทศที่สามทั้งหมดให้นักศึกษา แล้วกำหนดวันเดินทาง โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมด UNHCR เป็นผู้จ่ายให้

ข้อมูล ณ เดือนเมษายน พ.ศ.2543 มีบุคคลสัญชาติพม่าที่พักอาศัยอยู่ในศูนย์มณีลอย เดินทางไปตั้งถิ่นฐาน ณ ประเทศที่สาม จำนวน 2,225 คน แยกได้ดังนี้
  • ประเทศสหรัฐอเมริกา  จำนวน 1,049 คน
  • ประเทศแคนาดา จำนวน 661 คน
  • ประเทศออสเตรเลีย จำนวน 510 คน
  • ประเทศสวีเดน จำนวน 4 คน
  • ประเทศอังกฤษ จำนวน 1  คน 

วีรกรรมของนักศึกษาพม่า ในบ้านมณีลอย
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2542 เวลาประมาณ 11:45 น. กลุ่มนักศึกษาพม่าที่ใช้ชื่อว่า Vigorous Burmese Student Warrior (VBSW) จำนวน 5 คน ใช้อาวุธสงครามบุกยึดสถานเอกอัครราชฑูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทย จับตัวเจ้าหน้าที่สถานฑูต คนงานและผู้ที่มาติดต่อสถานฑูตทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติๆไว้จำนวน 89 คน

นักศึกษา 2 ใน 5 คนนั้น  เป็นนักศึกษาที่พักอาศัยอยู่ในศูนย์นักศึกษาพม่าบ้านมณีลอย คือ Mr.Kyaw Nee (จอห์นนี่) และ Mr.Myint Oo หรือ Mr.Myint Thein (ปรีดา)

เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้ชื่อ "บ้านมณีลอย" โด่งดังในสังคมข่าวสารอย่างรวดเร็ว ม.ร.ว.สุขมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศ และนายชัยพฤกษ์  แสวงเจริญ อดีตหัวหน้าศูนย์นักศึกษาพม่าบ้านมณีลอย ต้องยอมเป็นตัวประกันแทนผู้ถูกจับทั้ง 89 คน นั่งเฮลิคอปเตอร์นำนักศึกษาพม่าทั้ง 5 คน ไปส่งที่รอยต่อชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2542

และต่อมา  เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2543 Mr.Myint Oo หรือ Mr.Myint Thein (ปรีดา) ได้ดำเนินการก่อเหตุร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง โดยพาพวกกองกำลังกองทัพพระเจ้า (God's Army) จำนวน 10 คน บุกเข้ายึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี และถูกทางการจู่โจมจับตายทั้งหมดเมื่อ 25 มกราคม 2554
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ก๊อดอามี่บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี)


อวสานศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย
ตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2535 เป็นต้นมา นักศึกษาพม่าล้วนสร้างความเดือดร้อนมาโดยตลอด ขาดระเบียบวินัย ไม่เคารพกฎกติกา มีการหลบหนีออกจากศูนย์ไปก่อเหตุร้ายต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านโดยรอบศูนย์ มีการลักเล็กขโมยน้อย ขโมยผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านที่ปลูกไว้ในเรือกสวน ไร่ นา ของมีค่าในบ้านก็ถูกโจรกรรม กลางคืนชาวบ้านต้องคอยระวังทรัพย์สิน ต้นไม้ในที่สาธารณะถูกตัดทำลายเพื่อนำไปสร้างเพิงพักอาศัย   

นายหล้า สุขวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมณีลอย ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เล่าถึงเหตุการณ์สมัยที่ศูนย์นักศึกษาพม่าบ้านมณีลอยยังเปิดทำการอยู่ ให้ผู้สื่อข่าว น.ส.พ.คม ชัด ลึก เมื่อประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ฟังว่า

"สมัยที่ศูนย์นักศึกษาพม่าเปิดทำการ ชาวบ้านในมณีลอยนอนผวาทุกคืน ข้าวของ พืชไร่ ถูกขโมยไม่เว้นวัน ลูกเด็กเล็กแดงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเผลอไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่มีบ้านอยู่ใกล้ศูนย์เดือดร้อนถูกข่มขู่ ขนาดผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ยังไม่วายถูกพวกเขาข่มขู่เลย...... 

....ชาวพม่าที่เข้ามาอยู่ในศูนย์ในเวลานั้น ส่วนใหญ่มีนิสัยดื้อรั้นเกเร เอาแต่ใจตัวเอง ไม่เชื่อฟังใคร ทางการห้ามออกจากศูนย์ ก็ฝ่าฝืน จนเจ้าหน้าที่ยูเอ็นต้องลงโทษโดยการไม่จ่ายเงินรายเดือน พวกเขาก็รวมตัวกันขู่จะทำร้าย   เจ้าหน้าที่บางรายถูกล้อมที่พัก ถูกขู่จะเผาบ้านพักก็มี ส่วนชาวบ้านไม่ต้องพูดถึง เดือดร้อนกันอย่างหนัก...

.....ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่าเอาศูนย์นี้มาตั้งในหมู่บ้านผมทำไม เราเคยอยู่กันอย่างสงบ แต่พอศูนย์เปิดทำการก็ต้องอยู่กันอย่างหวาดผวา คิดดูเถอะพวกเขามีหลายพันคนขณะที่คนในหมู่บ้านเราทั้งเด็กและผู้ใหญ่รวมกันแล้วมีไม่ถึงพัน หากเกิดปัญหาขึ้นมาเราก็ตายกับตาย"

ศูนย์นักศึกษาพม่าบ้านมณีลอยถูกชาวบ้านใน อ.ปากท่อ ต่อต้านอย่างหนัก จนรัฐบาลต้องดำเนินการปิดศูนย์อย่างเร่งด่วนในปี พ.ศ. 2545 โดยนักศึกษาบางส่วนถูกส่งตัวไปยังประเทศที่สาม ที่เหลือถูกส่งมาอยู่ที่ศูนย์อพยพบ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เพื่อรอส่งตัวไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามต่อไป

รวมระยะเวลาที่ศูนย์มณีลอยเปิดให้นักศึกษาพม่าได้พักพิง มาเป็นจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 10 ปี



ที่มาข้อมูล
  • คม ชัด ลึก. (2551). พลิกแฟ้ม : ปิดฉากศูนย์ มณีลอย อวสานกองกำลังก็อดอาร์มี.[Online]. Available :http://news.sanook.com/scoop/scoop_325931.php. [2554 เมษายน 1 ].
  • ปรีชา  เรืองจันทร์. (2543). ก๊อดอามี่  มณีลอย ปลุกราชบุรีเขย่าโลก. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น