วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนจบ การบริหาร-การสนับสนุน และอวสานของศูนย์

ต่อจาก
ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 1 กำเนิดศูนย์
ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 2 ใครบ้างอยู่ในศูนย์ฯ
ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 3 อยู่กันอย่างไรในมณีลอย


โครงสร้างการบริหารงานของศูนย์ฯ
มีเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สังกัดสำนักงานจังหวัดราชบุรี เป็นหัวหน้าศูนย์  แบ่งงานออกเป็น 6 งาน คือ งานอำนวยการ งานทะเบียน งานบริหารการเงิน งานอนามัย  งานสงเคราะห์และสวสัดิการ  และงานรักษาความสงบเรียบร้อย โดยการบริหารงานนั้น ขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ผ่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีที่ได้รับมอบหมาย และประสานงานแนวนอนกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี และนายอำเภอปากท่อ



บทบาทการช่วยเหลือขององค์การเอกชนและ UNHCR
ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ อาทิ UNHCR ได้ให้ความสนใจปัญหานักศึกษาพม่าและเรียกร้องมิให้ไทยทำการผลักดันนักศึกษาพม่า กลับประเทศจนกว่าสถานการณ์ในพม่าจะมีความปลอดภัย โดยองค์การระหว่างประเทศและองค์การเอกชนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยองค์การต่างๆ ได้แก่
  • ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR (United Nations High Commissioner for Refugees) ให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายประจำเดือนแก่นักศึกษา ผู้ใหญ่คนละ 800 บาทต่อเดือน เด็กอายุ 15-18 ปี คนละ 400 บาทต่อเดือน เด็กอายุไม่เกิน 14 ปี คนละ 200 บาทต่อเดือน ค่าอาหารทั้งที่ประกอบเลี้ยง 3 มื้อ และอาหารแห้งสำหรับนักศึกษาอีกส่วนหนึ่งที่เข้าอยู่ภายหลังเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2542 เป็นต้นมา ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่พัก อาคารประกอบและสิ่งสาธารณูปโภคอื่นๆ ตามสมควร 
  • สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย หรือ COERR (Catholic  Office for Emergency Relief and Refugees) โดยกระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้องค์การนี้ เข้าช่วยเหลือนักศึกษาพม่าในศูนย์ด้วยการบริการด้านการศึกษา การฝึกอาชีพ การเรียนภาษาอังกฤษ พิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์ การฝึกอาชีพช่างซ่อมเครื่องยนต์
  • IRC (International Rescue Committe) ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยดำเนินการช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลเบื้องต้น  และด้านสาธารณูปโภค เช่น การกำจัดขยะ การบำบัดน้ำเสีย  

การเดินทางไปประเทศที่สาม
หลังจากนักศึกษาพม่ารายงานตัวเข้าขอพักอาศัยในศูนย์มณีลอยแล้ว จะมีการทำทะเบียนประวัติและผ่านกระบวนการทางกฏหมายไทยก่อน หลังจากนั้น UNHCR จึงรับตัวไปสัมภาษณ์ โดยในเบื้องต้นจะถามความสมัครใจของนักศึกษาก่อนว่าจะไปอยู่ประเทศใด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จากสถานฑูตหรือกงศุลของประเทศนั้นๆ จะทำการสัมภาษณ์ซ้ำอีกครั้ง เพื่อแยกประเภทบุคคลเข้าสู่ระบบงานที่พึงประสงค์ของประเทศเขา เมื่อมีอุปสงค์และอุปทานสอดรับกัน UNHCR ก็จะดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารที่จะประกอบการเดินทางไปประเทศที่สามทั้งหมดให้นักศึกษา แล้วกำหนดวันเดินทาง โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมด UNHCR เป็นผู้จ่ายให้

ข้อมูล ณ เดือนเมษายน พ.ศ.2543 มีบุคคลสัญชาติพม่าที่พักอาศัยอยู่ในศูนย์มณีลอย เดินทางไปตั้งถิ่นฐาน ณ ประเทศที่สาม จำนวน 2,225 คน แยกได้ดังนี้
  • ประเทศสหรัฐอเมริกา  จำนวน 1,049 คน
  • ประเทศแคนาดา จำนวน 661 คน
  • ประเทศออสเตรเลีย จำนวน 510 คน
  • ประเทศสวีเดน จำนวน 4 คน
  • ประเทศอังกฤษ จำนวน 1  คน 

วีรกรรมของนักศึกษาพม่า ในบ้านมณีลอย
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2542 เวลาประมาณ 11:45 น. กลุ่มนักศึกษาพม่าที่ใช้ชื่อว่า Vigorous Burmese Student Warrior (VBSW) จำนวน 5 คน ใช้อาวุธสงครามบุกยึดสถานเอกอัครราชฑูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทย จับตัวเจ้าหน้าที่สถานฑูต คนงานและผู้ที่มาติดต่อสถานฑูตทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติๆไว้จำนวน 89 คน

นักศึกษา 2 ใน 5 คนนั้น  เป็นนักศึกษาที่พักอาศัยอยู่ในศูนย์นักศึกษาพม่าบ้านมณีลอย คือ Mr.Kyaw Nee (จอห์นนี่) และ Mr.Myint Oo หรือ Mr.Myint Thein (ปรีดา)

เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้ชื่อ "บ้านมณีลอย" โด่งดังในสังคมข่าวสารอย่างรวดเร็ว ม.ร.ว.สุขมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศ และนายชัยพฤกษ์  แสวงเจริญ อดีตหัวหน้าศูนย์นักศึกษาพม่าบ้านมณีลอย ต้องยอมเป็นตัวประกันแทนผู้ถูกจับทั้ง 89 คน นั่งเฮลิคอปเตอร์นำนักศึกษาพม่าทั้ง 5 คน ไปส่งที่รอยต่อชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2542

และต่อมา  เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2543 Mr.Myint Oo หรือ Mr.Myint Thein (ปรีดา) ได้ดำเนินการก่อเหตุร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง โดยพาพวกกองกำลังกองทัพพระเจ้า (God's Army) จำนวน 10 คน บุกเข้ายึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี และถูกทางการจู่โจมจับตายทั้งหมดเมื่อ 25 มกราคม 2554
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ก๊อดอามี่บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี)


อวสานศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย
ตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2535 เป็นต้นมา นักศึกษาพม่าล้วนสร้างความเดือดร้อนมาโดยตลอด ขาดระเบียบวินัย ไม่เคารพกฎกติกา มีการหลบหนีออกจากศูนย์ไปก่อเหตุร้ายต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านโดยรอบศูนย์ มีการลักเล็กขโมยน้อย ขโมยผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านที่ปลูกไว้ในเรือกสวน ไร่ นา ของมีค่าในบ้านก็ถูกโจรกรรม กลางคืนชาวบ้านต้องคอยระวังทรัพย์สิน ต้นไม้ในที่สาธารณะถูกตัดทำลายเพื่อนำไปสร้างเพิงพักอาศัย   

นายหล้า สุขวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมณีลอย ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เล่าถึงเหตุการณ์สมัยที่ศูนย์นักศึกษาพม่าบ้านมณีลอยยังเปิดทำการอยู่ ให้ผู้สื่อข่าว น.ส.พ.คม ชัด ลึก เมื่อประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ฟังว่า

"สมัยที่ศูนย์นักศึกษาพม่าเปิดทำการ ชาวบ้านในมณีลอยนอนผวาทุกคืน ข้าวของ พืชไร่ ถูกขโมยไม่เว้นวัน ลูกเด็กเล็กแดงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเผลอไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่มีบ้านอยู่ใกล้ศูนย์เดือดร้อนถูกข่มขู่ ขนาดผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ยังไม่วายถูกพวกเขาข่มขู่เลย...... 

....ชาวพม่าที่เข้ามาอยู่ในศูนย์ในเวลานั้น ส่วนใหญ่มีนิสัยดื้อรั้นเกเร เอาแต่ใจตัวเอง ไม่เชื่อฟังใคร ทางการห้ามออกจากศูนย์ ก็ฝ่าฝืน จนเจ้าหน้าที่ยูเอ็นต้องลงโทษโดยการไม่จ่ายเงินรายเดือน พวกเขาก็รวมตัวกันขู่จะทำร้าย   เจ้าหน้าที่บางรายถูกล้อมที่พัก ถูกขู่จะเผาบ้านพักก็มี ส่วนชาวบ้านไม่ต้องพูดถึง เดือดร้อนกันอย่างหนัก...

.....ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่าเอาศูนย์นี้มาตั้งในหมู่บ้านผมทำไม เราเคยอยู่กันอย่างสงบ แต่พอศูนย์เปิดทำการก็ต้องอยู่กันอย่างหวาดผวา คิดดูเถอะพวกเขามีหลายพันคนขณะที่คนในหมู่บ้านเราทั้งเด็กและผู้ใหญ่รวมกันแล้วมีไม่ถึงพัน หากเกิดปัญหาขึ้นมาเราก็ตายกับตาย"

ศูนย์นักศึกษาพม่าบ้านมณีลอยถูกชาวบ้านใน อ.ปากท่อ ต่อต้านอย่างหนัก จนรัฐบาลต้องดำเนินการปิดศูนย์อย่างเร่งด่วนในปี พ.ศ. 2545 โดยนักศึกษาบางส่วนถูกส่งตัวไปยังประเทศที่สาม ที่เหลือถูกส่งมาอยู่ที่ศูนย์อพยพบ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เพื่อรอส่งตัวไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามต่อไป

รวมระยะเวลาที่ศูนย์มณีลอยเปิดให้นักศึกษาพม่าได้พักพิง มาเป็นจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 10 ปี



ที่มาข้อมูล
  • คม ชัด ลึก. (2551). พลิกแฟ้ม : ปิดฉากศูนย์ มณีลอย อวสานกองกำลังก็อดอาร์มี.[Online]. Available :http://news.sanook.com/scoop/scoop_325931.php. [2554 เมษายน 1 ].
  • ปรีชา  เรืองจันทร์. (2543). ก๊อดอามี่  มณีลอย ปลุกราชบุรีเขย่าโลก. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์

อ่านต่อ >>

ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 3 อยู่กันอย่างไรในมณีลอย

ต่อจาก
ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 1 กำเนิดศูนย์
ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 2 ใครบ้างอยู่ในศูนย์ฯ

เนื่องจากพื้นฐานสังคมพม่ามีชนกลุ่มน้อยมาก จึงมีการแยกกลุ่มต่างๆ ในศูนย์มณีลอยอย่างชัดเจน เช่น โรงเรียนก็แบ่งเป็นโรงเรียนมอญ พม่า กะเหรี่ยง และโรงเรียนรวม วัดก็แบ่งเป็นวัดพม่า วัดมอญ การตั้งกระท่อมอยู่แยกจากอาคารที่ UNHCR จัดทำให้ ก็จะแยกกลุ่มกันชัดเจน กิจกรรมต่างๆ เช่น กีฬาหรืองานส่วนกลางอื่นๆ ก็จะแยกกันทำ เมื่อแยกเป็นกลุ่มหลายกลุ่ม จึงเป็นเหตุให้มีการขัดแย้งกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มมอญกับพม่า ค่อนข้างรุนแรงมากถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันเลยก็มี

ลักษณะนิสัยของนักศึกษาภายในศูนย์ ค่อนข้างกร้าวร้าว ดื้อดึง ดันทุรัง หากคิดทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ จะเอาอะไรต้องเอาให้ได้ ไม่คำนึงถึงระเบียบ กฎเกณฑ์ที่มี ไม่เคารพกติกา บางครั้งไม่ให้เกียรติประเทศไทยและคนไทย เพราะเขาเชื่อว่าประเทศไทยเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าสมัยกรุงศรีอยุธยา การปกครองกันเองภายในกลุ่มค่อนข้างเผด็จการ หากผู้นำกลุ่มคิดหรือสั่งให้ทำอะไร ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากใครบิดพลิ้วหรือปฏิบัตินอกแนวทางจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง และถูกต่อต้านในสังคมของหมู่พม่า บางครั้งถึงขั้นลงมือทำร้ายร่างกายกันเลยทีเดียว

กลุ่มนักศึกษาพม่าที่อยู่ในศูนย์ มักนอนตื่นสายมาก การประกอบอาหาร ทาง UNHCR มีอาหารปรุงสำเร็จไว้บริการ 3 มื้อ และมีอาหารอีกส่วนหนึ่งเป็นอาหารสด แจกให้ไปปรุงเอง โดยกำหนดแจกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  มีอุปกรณ์การปรุงให้พร้อมทุกอย่าง เช่น เตา ถ่าน น้ำมัน ข้าว น้ำปลา เนื้อหมู ผัก ไข่ไก่ เป็นต้น

การเรียนหนังสือ
การเรียนหนังสือจะมีโรงเรียนกลางหรือโรงเรียนรวม ดำเนินการโดยสำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (Catholic Office for Emergency Relief and Refugees - COERR) สอนทั้งวิชาการและวิชาชีพ โดยมีอาสาสมัครช่วยสอน มีภาษาอังกฤษ ฝึกอาชีพ พิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์ ช่างซ่อมเครื่องยนต์  นอกจากนั้นนักศึกษาแต่ละกลุ่มยังได้แบ่งไปเรียนตามโรงเรียนมอญ กะเหรี่ยงและพม่า แยกจากกันทำการสอนศิลปวัฒนธรรมและภาษาของแต่ละเชื้อชาติกันเอง การศึกษาทั้งหมดเป็นแบบให้เปล่า ส่วนกิจกรรมทางศาสนาก็เหมือนสังคมภายนอกทั่วไป มีทั้งวัด โบสถ์ และสุเหร่า โดยวัดแยกออกเป็นวัดมอญกับวัดพม่า มีพระสงฆ์รวม 15 รูป  

การสาธารณสุข
การเจ็บไข้ได้ป่วยรักษาฟรีทั้งหมด โดยหน่วยงาน International Rescue Committe (IRC) เป็นผู้ดูแล  การรักษาเบื้องต้น  หากเกินความสามารถ จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลของอำเภอ หรือโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีต่อไป ค่ารักษาพยาบาลทาง UNHCR จะรับผิดชอบจ่ายให้ทั้งหมด


สวัสดิการอื่นๆ
ศูนย์พยายามไม่ปล่อยนักศุึกษาเหล่านี้มีเวลาว่าง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการกร้าวร้าวและฟุ้งซ่าน  จึงพยายามจัดกิจกรรมต่างๆ ให้ทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่านักศึกษาเหล่านี้จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม เช่น การกีฬา การฝึกอบรม การสัมภาษณ์ (เตรียมไปประเทศที่สาม) การสำรวจความต้องการ การสอบถามปัญหาความเป็นอยู่ การตรวจสอบรายบุคคล การเช็คชื่อเป็นรายอาคาร การคุ้มเข้มบุคคลเป้าหมาย ฯลฯ

ส่วนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและของจำเป็นในชีวิต ทางศูนย์ฯ ก็จะจัดให้มีตลาดนัดสินค้าราคาถูก ในทุกวันเสาร์บริเวณถนนหน้าศูนย์นักศึกษาพม่า เวลา 07:00-11:00 น. และที่สำคัญเมื่อถึงวันที่ 15 ของทุกเดือน ทุกคนก็จะได้รับค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ทาง UNHCR จ่ายให้ในอัตรา ผู้ใหญ่ 800 บาท/คน เด็กโต อัตรา 400 บาท/คน และเด็กเล็ก ในอัตรา 200 บาท/คน

น้ำประปาบาดาล และไฟฟ้าภายในศูนย์ฯ เป็นการให้เปล่าทั้งหมด

คนไทยสมัครเป็นพม่า
จากความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดี (เพียงแต่ไม่อิสระเสรี มีอิสระเพียงอยู่ในศูนย์เท่านั้น)  ทั้งที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค การศึกษา สาธรณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  ล้วนแล้วแต่ UNHCR จัดแบบให้ฟรีทั้งหมด แถมยังมีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนให้อีกด้วย   

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ ชาว อ.ปากท่อ หลายคนที่ตกงาน และมีที่อยู่อาศัยรอบๆ ศูนย์แห่งนี้ มาสมัครขอเป็นนักศึกษาพม่า และขอพักพิงในศูนย์ฯ เป็นจำนวนมาก แต่ทางศูนย์ฯ ไม่สามารถรับไว้ได้

อ่านต่อ ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนจบ การบริหาร-การสนับสนุน และอวสานของศูนย์

ที่มาข้อมูล
ปรีชา  เรืองจันทร์. (2543). ก๊อดอามี่  มณีลอย ปลุกราชบุรีเขย่าโลก. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.


อ่านต่อ >>

ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 2 ใครบ้างอยู่ในศูนย์ฯ

ต่อจาก ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 1 กำเนิดศูนย์

การเข้าพักอาศัยในศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย
หลักเกณฑ์ในการรับบุคคลสัญชาติพม่าเข้าพักอาศัยในศูนยนักศึกษาพม่านี้ ได้ปฏิบัติตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ลับ ด่วนมาก ที่ มท.(สศอ.) 0205/1982 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2538 และหนังสือด่วนมากที่ มท.0205.3/9827  ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2539  ดังนี้
  • กลุ่มที่ 1 บุคคลสัญชาติพม่าที่มีสถานศึกษา และอดีตข้าราชการ นักการเมือง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ลงบัญชีไว้เมื่อปี พ.ศ.2535 หากบุคคลดังกล่าวไปรายงานตัวขอเข้าพักในศูนย์ฯ ให้ทำการตรวบสอบสถานะ แล้วรับตัวเข้าพักในศูนย์ฯ โดยไม่ต้องดำเนินคดี  ทั้งนี้ให้รวมถึงครอบครัวของบุคคลดังกล่าวนี้ด้วย
  • กลุ่มที่  2 บุคคลสัญชาติพม่าที่อยู่ในความดูแลของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR  (ย่อมาจาก United Nations High Commissioner for Refugees) หากไปรายงานตัวขอเข้าพักในศูนย์ฯ ให้นำตัวไปดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เมื่อสิ้นสุดคดี ให้นำตัวเข้าไปไว้ในศูนย์ฯ เป็นการชั่วคราว โดยไม่มีการออกบัตรประจำตัวและใบอนุญาตให้เดินทางออกนอกศุนย์ จนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะได้รับทะเบียนประวัติข้อมูลบุคคล (BIO-DATA) ของบุคคลเหล่านั้นจาก UNHCR จึงจะขออนุญาตให้เข้าพักในศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการต่อไป 

จำนวนผู้ที่พักอยู่ในศูนย์ฯ
ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2543 มีนักศึกษาพม่าที่พักอยู่ในศูนย์มณีลอย รวม 1,746 คน  แยกเป็น ชาย 807 คน หญิง 447 คน เด็กชาย 253 คน เด็กหญิง 239 คน ถูกเพิกถอนสภาพแล้ว  28 คน เสียชีวิต 35 คน ในด้านการศึกษาสามารถจำแนกได้ ดังนี้
  • ปริญญาเอก  1  คน
  • ปริญญาตรี  110 คน
  • มัธยมปลาย  280 คน
  • มัธยมต้น 240 คน
  • อ่านออกเขียนได้ 400 คน
  • ไม่รู้หนังสือ 140 คน
ผู้ที่พักอยู่ในศูนย์มณีลอยแห่งนี้ มีครอบครัวแล้วประมาณ 70% ซึ่งกลุ่มนี้มุ่งไปสู่ประเทศที่สาม ส่วนกลุ่มที่ยังโสดนั้น ยังมีความคิดว่า หากสถานการณ์ในพม่าดีขึ้นจะกลับไปประเทศพม่าเพื่อต่อสู้ทางการเมืองอีก ถิ่นกำเนิดส่วนใหญ่มาจาก รัฐกะเหรี่ยง มอญ มัณฑะเล ย่างกุ้ง ทวาย เมียวดี



กลุ่มต่างๆ ในศูนย์ฯ
เนื่องจากนักศึกษาพม่ามีความคิดหลากหลายนิยมประชาธิปไตยอย่างรุนแรงคงามคิดเสรีอย่างสุดโต่ง จึงแตกแยกในความคิดและวิธีดำเนินงานอย่างมาก ไม่มีกลุ่มใดมีอิทธิพลเหนือกลุ่มใด ทุกกลุ่มเป็นอิสระต่อกัน  มีผู้นำกลุ่มของตนเอง การแข่งขันระหว่างกลุ่มสูง การแสดงออกต่างๆ จะออกมาในรูปแบบที่รุนแรงมาก ควบคุมยาก ภายในศุฯย์สามารถแบ่งได้ออกเป็น 15 กลุ่ม ดังนี้

สัญชาติกะเหรี่ยง
  • กลุ่ม KSO  มี พ.ต.โรเบิร์ตสัน เป็นผู้นำ
  • กลุ่ม OKRSO ยังไม่มีผู้นำที่แท้จริง
  • กลุ่ม KNC มี ดร.มาลา เป็นผู้นำ
  • กลุ่ม KYSO  มี ซูเวน  เป็นผู้นำ
สัญชาติมอญ
  • กลุ่ม OMNSO มี เอเวน เป็นผู้นำ (กลุ่มนี้ใหญ่เป็นอันดับสอง มีสมาชิกประมาณ 200 คน)
  • กลุ่ม OMYSO มี พระหม่อง เป็นผู้นำ
สัญชาติพม่า
  • กลุ่ม RPLS  มี ทงอ่องโจ เป็นผู้นำ
  • กลุ่ม PLF มี เมี๊ยะอ่อง เป็นผู้นำ
  • กลุ่ม PDF มี ยาอ่อง เป็นผู้นำ
  • กลุ่ม ONSOB มี ซิพวย เป็นผู้นำ
  • กลุ่ม ABBESU มี เมี๊ยะโจอ่อง เป็นผู้นำ
  • กลุ่ม ABYMY มี เปียนยา เป็นผู้นำ
  • กลุ่ม FMASA มี เหง่หลี เป็นผู้นำ (กลุ่มนี้ใหญ่เป็นอันดับสอง มีสมาชิกประมาณ 200 คน)
  • กลุ่ม BSA มี ไนท์ วิน เป็นผู้นำ (กลุ่มนี้ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกถึง 500 คน)
  • กลุ่ม NSL ยังไม่มีผู้นำที่แท้จริง

แกนนำสำคัญ
บุคคลที่เป็นแกนนำสำคัญที่นักศึกษาเชื่อถือและมีบทบาทในการปลุกใจให้เกิดความกระตือรือร้นรุกรบและต่อสู้ในกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องต่างๆ ได้แก่  จอนห์นี่, ปรีดา, เหม่าทุย,  พ.ต.โรเบิร์ตสัน,  พระหม่อง, พระเปียนยา,  อ่องซู,  ชาลี, เมฮิตา,  บาตาน. ตันติฮัน,  ติชา,  ซูซู,  ยียี,  หม่อง,  หม่องมอ,  เยดิ,  เมี๊ยะร่วย,  เยนผิ,  ติฮะ,  เต เต รวย,  ซ่อไป่,  ตาอู่,  แตงเตททู,  เต็งตาอู

อ่านต่อ ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 3 อยู่กันอย่างไรในมณีลอย


ที่มาข้อมูล
ปรีชา  เรืองจันทร์. (2543). ก๊อดอามี่  มณีลอย ปลุกราชบุรีเขย่าโลก. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์. 
อ่านต่อ >>

ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 1 กำเนิดศูนย์

จากการที่พม่ามีการปกครองในระบบสังคมนิยมในนามของ พรรคสังคมนิยมพม่า โดยมีพรรคทหารพรรคเดียวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 ได้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ มีการคอรัปชั่นในวงราชการอย่างมหาศาล ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพมาโดยตลอด จนกระทั่งเดือนสิงหาคม พ.ศ.2530 นักศึกษา ประชาชนทั่วประเทศ ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และรัฐบาลทหารได้ส่งกำลังทหารเข้าล้อมปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นักศึกษาและประชาชนจึงหลบหนีเข้าไปอยู่กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย-พม่า และบางส่วนได้หลบหนีเข้าลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศไทย

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดย พล.อ.ซอ หม่อง ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2531 และได้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มต่อต้านต่างๆ ทำให้นักศึกษาและประชาชนพม่าหลบหนีเข้าร่วมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยและหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น จากนั้นรัฐบาลทหาร พล.อ.ซอ  หม่อง ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2533 แต่รัฐบาลพม่ากำหนดเงื่อนไขหลายประการที่ส่อให้เห็นว่ารัฐบาลทหารคงจะไม่ยอมโอนอำนาจจากการบริหารประเทศให้แก่ พรรค National League for Democracy  (NLD) ของนางออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งมากที่สุด

ดังนั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2533 จึงเกิดการประชุมประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษา ประชาชน พระสงฆ์ และนักการเมือง ซึ่งรัฐบาลทหารได้ใช้กำลังปราบปรามอย่างเฉียบขาด ยังผลให้นักการเมือง นักศึกษา ครู อาจารย์ พระสงฆ์ ฯลฯ เป็นจำนวนมากต้องหลบหนีเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย

กำเนิดศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย
เกี่ยวกับเรื่องเหตุการณ์ในพม่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญตลอดมา เนื่องจากปัญหาที่อาจมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับปัญหาความมั่นคงและภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาของนานาชาติ รัฐบาลไทยจึงมีการกำหนดมาตรการการดำเนินการต่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวพม่าด้วยความรอบคอบ มีการพิจารณาทบทวนแก้ไขหลายครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ นายอานันท์  ปันยารชุน ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 อนุมัติให้จัดตั้ง "ศูนย์นักศึกษาพม่า" ขึ้น ณ บ้านมณีลอย ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กำนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมนักศึกษาพม่าที่หลบซ่อนอยู่ในราชอาณาจักรไทย

ที่ตั้งศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
ภาพจาก Google 

โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และอนุมัติงบประมาณจากงบกลางประจำปี 2534 เป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการและดำเนินงานศูนย์นักศึกษาพม่า ในระยะแรกเป็นเงินทั้งสิ้น 13,857,985 บาท โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างซ่อมแซมเตรียมสถานที่ตั้งแต่วันที่  3 สิงหาคม 2535 และได้รับนักศึกษาพม่าเข้าพักอาศัยในศูนย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม  2535 เป็นต้นมา

ภายในศูนย์ฯ มีพื้นที่ 200 ไร่ มีอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
  1. อาคารอำนวยการ  1 หลัง
  2. อาคารรักษาการณ์   2 หลัง
  3. อาคารสื่อสาร  1 หลัง
  4. อาคารพยาบาล 1 หลัง
  5. บ้านพักเจ้าหน้าที่  4 หลัง
  6. เรือนพักเจ้าหน้าที่ (ห้องแถว) 1 หลัง
  7. โรงนันทนาการ  1  หลัง
  8. โรงอาหาร  1 หลัง  
  9. อาคาเรียนรวม 2 หลัง
  10. อาคารเรียนชั่วคราว  1 หลัง
  11. โรงนอนที่ 1 อาคารคอนกรีต 2 ชั้น   1   หลัง
  12. โรงนอนที่  2 อาคารไม้ชั้นเดียว  1  หลัง
  13. โรงนอนที่ 3 อาคารเล็ก  2 หลัง
  14. เรือนแถวที่พักครอบครัว   2  หลัง
  15. โรงนอนถาวร   8  หลัง
  16. โรงนอนชั่วคราว (คสล.)  4  หลัง
  17. โรงนอนชั่วคราว (ไม้มุงจาก)  28  หลัง
  18. โรงจ่ายอาหารแห้ง   1   หลัง
  19. โรงครัวประกอบอาหาร  4  หลัง
  20. ที่ทำการชั่วคราว  UNHCR 1 หลัง
  21. อาคารสัมภาษณ์และเยียมญาติ  1  หลัง
อ่านต่อ ศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ตอนที่ 2 ใครบ้างอยู่ในศูนย์ฯ


ที่มาข้อมูล
ปรีชา  เรืองจันทร์. (2543). ก๊อดอามี่  มณีลอย ปลุกราชบุรีเขย่าโลก. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
 
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ราชบุรี พ.ศ.2554

คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดราชบุรี ได้ออกประกาศฯ เมื่อ 23 มี.ค.2554 เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดราชบุรี  ออกเป็น 3 รูปแบบ เพื่อให้ประชาชนได้เสนอความเห็นชอบและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละรูปแบบไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดราชบุรี ภายใน 5 วัน คือวันที่ 24-28 มี.ค.2554 โดยมีข้อมูลพื้นฐาน คือ
  1. จำนวนเขตเลือกตั้ง 5 เขต
  2. จำนวน ส.ส.ทั้งจังหวัด 5 คน (เขตเลือกตั้งละ 1 คน)
  3. จำนวนประชากรรวมทั้งจังหวัด 839,075 คน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2553)
  4. จำนวนประชากรต่อ ส.ส.  1 คน 167,815 คน
โดยในแต่ละรูปแบบการแบ่งเขต มีรายละเอียด ดังนี้


รูปแบบที่ 1 (ใช้รูปแบบนี้)

รูปแบบที่ 1
แบ่งออกเป็น 5 เขตประกอบด้วย
  • เขตเลือกตั้งที่ 1  อ.เมืองราชบุรี (ยกเว้น ต.น้ำพุ, ต.ห้วยไผ่,ต.ดอนแร่,ต.อ่างทอง) มีประชากรรวม 168,361 คน (ชาย 83,171 คน,หญิง 85,190 คน)
  • เขตเลือกตั้งที่ 2 อ.เมืองราชบุรี (เฉพาะ ต.น้ำพุ, ต.ห้วยไผ่,ต.ดอนแร่, ต.อ่างทอง), อ.ปากท่อ,อ.สวนผึ้ง, อ.วัดเพลง และ อ.บ้านคา มีประชากรรวม 166,341 คน (ชาย 82,980 คน, หญิง 83,361 คน)
  • เขตเลือกตั้งที่ 3 อ.โพธาราม (ยกเว้น ต.บ้านฆ้อง,ต.บ้านสิงห์,ต.ดอนทราย) อ.จอมบึง มีประชากรรวม 167,095 คน (ชาย 81,506 คน,หญิง 85,589 คน)
  • เขตเลือกตั้งที่ 4 อ.บ้านโป่ง มีประชากรรวม 169,900 คน (ชาย 81,592 คน, หญิง 88,308 คน) 
  • เขตเลือกตั้งที่ 5 อ.ดำเนินสะดวก, อ.บางแพ,อ.โพธาราม (เฉพาะ ต.บ้านฆ้อง, ต.บ้านสิงห์, ต.ดอนทราย) ประชากรรวม 167,378 คน (ชาย 80,350 คน, หญิง 87,028 คน)

รูปแบบที่ 2

รูปแบบที่ 2
แบ่งออกเป็น 5 เขต ประกอบด้วย
  • เขตเลือกตั้งที่ 1 อ.เมืองราชบุรี (ยกเว้น ต.น้ำพุ, ต.ห้วยไผ่,ต.ดอนแร่,ต.อ่างทอง) มีประชากรรวม 168,361 คน (ชาย 83,171 คน,หญิง 85,190 คน)
  • เขตเลือกตั้งที่ 2  อ.เมืองราชบุรี (เฉพาะ ต.น้ำพุ, ต.ห่วยไผ่,ต.ดอนแร่,ต.อ่างทอง) อ.ปากท่อ, อ.สวนผึ้ง, อ.วัดเพลง,อ.บ้านคา,อ.จอมบึง (เฉพาะ ต.รางบัว) มีประชากรรวม 175,250 คน (ชาย 87,387 คน,หญิง 87,863 คน)
  • เขตเลือกตั้งที่ 3 อ.โพธาราม (ยกเว้น ต.บ้านฆ้อง,ต.บ้านสิงห์) อ.จอมบึง (ยกเว้น ต.รางบัว) มีประชากรรวม 165,409 คน (ชาย 80,510 คน,หญิง 84,899 คน)
  • เขตเลือกตั้งที่ 4 อ.บ้านโป่ง มีประชากรรวม 169,900 คน (ชาย 81,593 คน,หญิง 88,308 คน)
  • เขตเลือกตั้งที่ 5 อ.ดำเนินสะดวก, อ.บางแพ, อ.โพธาราม (เฉพาะ ต.บ้านฆ้อง, ต.บ้านสิงห์) มีประชากรรวม 160,155 คน (ชาย 76,939 คน, หญิง 83,216 คน)

รูปแบบที่ 3

รูปแบบที่ 3
แบ่งออกเป็น 5 เขต ประกอบด้วย
  • เขตเลือกตั้งที่ 1 อ.เมืองราชบุรี มีประชากรรวม 195,291 คน (ชาย 96,296 คน,หญิง 98,995 คน)
  • เขตเลือกตั้งที่ 2 อ.ปากท่อ, อ.สวนผึ้ง,อ.วัดเพลง, อ.บ้านคา มีประชากรรวม 139,411 คน (ชาย 69,855 คน, หญิง 69,556 คน)
  • เขตเลือกตั้งที่ 3 อ.โพธาราม, อ.จอมบึง มีประชากรรวม 194,739 คน (ชาย 94,642 คน, หญิง 100,097 คน)
  • เขตเลือกตั้งที่ 4 อ.บ้านโป่ง มีประชากรรวม 169,900 คน (ชาย 81,592 คน,หญิง 88,308 คน)
  • เขตเลือกตั้งที่ 5 อ.ดำเนินสะดวก, อ.บางแพ มีประชากรรวม 139,734 คน (ชาย 67,214 คน,หญิง 72,520 คน)
ผลการประกาศว่าจะใช้การแบ่งเขตเลือกตั้งใดนั้น ยังไม่ได้ประกาศ
สรุป การแบ่งเขตเลือกตั้งใช้รูปแบบที่ 1

ที่มาข้อมูล
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดราชบุรี เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประกาศ ณ วันที่ 23 มี.ค.2554
อ่านต่อ >>