ชุดที่ 1 (แต่งตั้ง 28 มิถุนายน 2475)
เช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 "คณะราษฎร" อันประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จำนวน 99 คน เข้ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยทำการแต่งตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร 3 นาย เป็นผู้ใช้อำนาจแทน และนำรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศเป็นครั้งแรก
"ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (ฉบับที่ 1)" กำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎร โดยให้คณะราษฎร ซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้น จำนวน 70 คน ส่งผลให้ประเทศไทยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
สภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของประเทศ เริ่มทำการประชุมขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 เวลา 14.00 น. ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยใช้ห้องโถงชั้นบนเป็นที่ประชุม จัดโต๊ะเก้าอี้เป็นรูปครึ่งวงกลม ตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเป็นการชั่วคราว
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกได้นำข้อบังคับการประชุมของสภาองคมนตรีมาใช้แทนชั่วคราว โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้ขอให้สมาชิกทุกคนในที่ประชุมยืนกล่าวคำปฏิญาณตนโดยพร้อมเพรียงกัน
ในการนี้ เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มาเปิดประชุมในเวลา 14.00 น. ความว่า
"วันนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติศาสตร์การณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่าน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ"
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดนี้ ปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยประชุม ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2475 - 9 ธันวาคม 2476 จากนั้นจึงสิ้นสุดสมาชิกภาพลง หลังจากที่มีการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 และมีการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ตาม "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 (ฉบับที่ 2)"
อนึ่ง ในสมัยการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ได้มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นจากกรณีกบฏบวรเดช โดยฝ่ายพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ต้องการล้มรัฐบาล และนำประเทศกลับสู่การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในที่สุดแล้ว รัฐบาลก็สามารถนำกำลังเข้าปราบปรามได้หมดสิ้น ระหว่างวันที่ 11-24 ตุลาคม 2476
ชุดที่ 2 (เลือกตั้ง 15 พฤศจิกายน 2476)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 (ฉบับที่ 2) ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ได้กำหนดให้สภามีเพียงสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร มีจำนวน 156 คน ประกอบด้วย สมาชิก 2 ประเภท คือ
|
นายกิมเส็ง(โกศล) สินธุเสก
ส.ส.คนแรกของราชบุรี |
สมาชิกประเภทที่ 1 : สมาชิกประเภทนี้มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 มีจำนวน 78 คน เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม แบบรวมเขตจังหวัด กล่าวคือ ให้ราษฎรเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง โดยถือเกณฑ์ราษฎร 200,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคนซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของประเทศไทย
สมาชิกประเภทที่ 1 ชุดนี้ ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 - 9 ธันวาคม 2480 หลังจากสิ้นสุดสมาชิกภาพลงตามวาระ
สมาชิกประเภทที่ 2 : สมาชิกประเภทนี้มีจำนวน 78 คน เท่ากันกับสมาชิกประเภทที่ 1 แต่มาจากการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2476 และได้รับการแต่งตั้งจำนวนสมาชิกเพิ่มอีกหลายครั้งเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่า สมาชิกประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ต้องมีจำนวนเท่ากัน โดยสมาชิกประเภทนี้ปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2476 - 10 พฤษภาคม 2489 เนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (ฉบับที่ 3) ซึ่งกำหนดให้มีพฤฒสภาขึ้นมาแทน โดยสมาชิกพฤฒสภาชุดแรกแต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2489
ทั้งนี้ เมื่อสมาชิกประเภทที่ 1 ชุดนี้พ้นจากวาระแล้ว สมาชิกประเภทที่ 2 ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป และคาบเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของสมาชิกประเภทที่ 1 อีกหลายชุด จนประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (ฉบับที่ 3)
อนึ่ง ในระหว่างการดำรงตำแหน่งของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบอัญเชิญ "พระองค์เจ้าอานันทมหิดล" ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2477 ตามพระนาม "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล"
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส.(ประเภทที่ 1) ดังนี้ (พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายกิมเส็ง (โกศล) สินธุเสก
ชุดที่ 3 (เลือกตั้ง 7 พฤศจิกายน 2480 - 11 กันยายน 2481)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 3 มีสมาชิกทั้งสิ้นจำนวน 182 คน ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท เหมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 2 ประกอบด้วย สมาชิกประเภทที่ 1 และสมาชิกประเภทที่ 2 โดยสมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แต่ละเขตมีผู้แทนราษฎรได้หนึ่งคน และถือเกณฑ์จำนวนประชากร 200,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน มีจำนวน 91 คน
สมาชิกประเภทที่ 1 ของชุดนี้ ยังคงมาจากเลือกตั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 (ฉบับที่ 2) เหมือนสมาชิกประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 แต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 เป็นการเลือกตั้งล่วงหน้า ก่อนที่สมาชิกชุดเดิมจะสิ้นสุดวาระในวันที่ 9 ธันวาคม 2480
สมาชิกประเภทที่ 1 จึงดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2480 - 11 กันยายน 2481 โดยสิ้นสุดสมาชิกภาพลงตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร อันเนื่องมาจากรัฐบาลพ่ายแพ้การลงมติในสภาฯ กรณี ส.ส.เสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับวิธีการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ส่วน สมาชิกประเภทที่ 2 นั้น ยังคงเป็นชุดเดิมต่อเนื่องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 2 แต่ได้มีการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นอีก 13 คน ในวันที่ 8 ธันวาคม 2480 เพื่อให้มีจำนวน 91 คน (จากเดิมที่มี 78 คน) เท่ากับสมาชิกประเภทที่ 1
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 3 นี้ สิ้นสุดวาระตามสมาชิกประเภทที่ 1 ที่สิ้นสุดตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร แต่อย่างไรก็ตาม แม้สมาชิกประเภทที่ 1 จะสิ้นสุดสมาชิกภาพ แต่สมาชิกประเภทที่ 2 ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปเช่นเคย
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส.(ประเภทที่ 1) ดังนี้ (พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายกิมเส็ง (โกศล) สินธุเสก
ชุดที่ 4 (12 พฤศจิกายน 2481 - 15 ตุลาคม 2488)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 4 นี้ ยังประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่ 1 และสมาชิกประเภทที่ 2 เช่นเคย โดยสมาชิกประเภทที่ 1 แรกเริ่มมีจำนวน 91 มาจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2481 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แต่ละเขตเลือกตั้งมีผู้แทนราษฎรได้หนึ่งคน และถือเกณฑ์จำนวนประชากร 200,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
ส่วนสมาชิกประเภทที่ 2 ยังเป็นสมาชิกชุดเดิมที่สืบเนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 3 มีจำนวน 91 คน เท่ากัน
สำหรับเหตุการณ์สำคัญๆ ทางบ้านเมืองระหว่างที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้อยู่ในตำแหน่งนั้นมีมากมาย เช่น การสถาปนาพระอิสริยยศ พระราชชนนีศรีสังวาลย์ ขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์" เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2481
เหตุการณ์ "กบฏพระยาทรงสุรเดช" เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2481 (นับตาม พ.ศ.เดิม) นำโดยนายพันเอก พระยาทรงสุรเดช พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทหาร-พลเรือน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 และ 2 ที่หมายจะโค่นล้มรัฐบาล นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม แต่สุดท้ายก็ถูกฝ่ายรัฐบาลจับกุมได้ และผลจากการก่อกบฏครั้งนี้ ส่งผลให้ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถูกเนรเทศให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
นอกจากนี้ รัฐบาลนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ยังได้ ประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ ระหว่างปี 2482 - 2485 และทำการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม ตามหลักสากล จนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตประจำวันอย่างมาก
นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยยังต้องพบกับภาวะสงคราม กรณีพิพาทอินโดจีน-ฝรั่งเศส และการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ซึ่งประกอบด้วย ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลี กระทั่งฝ่ายอักษะพ่ายแพ้สงครามแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ประเทศไทยจึงต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การถือกำเนิดขึ้นของ "ขบวนการเสรีไทย" ที่คอยช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างลับๆ ได้ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงครามในที่สุด
ต่อมา เมื่อสงครามสงบลง ไทยได้ดินแดน 4 จังหวัดในกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศส (ประกอบด้วย นครจำปาศักดิ์ - พระตะบอง - พิบูลสงคราม - ลานช้าง) รัฐบาลจึงจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมอีก 4 ตำแหน่ง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2488 ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มขึ้นเป็น 95 คน
ดังนั้น เพื่อให้สมาชิกประเภทที่ 2 เท่ากับสมาชิกประเภทที่ 4 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 เพิ่มอีก 4 คน เป็น 95 คน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2488 ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดทที่ 4 มีจำนวนทั้งสิ้น 190 คน
เป็นที่น่าสังเกตว่า อายุสมาชิกภาพของสมาชิกประเภทที่ 1 ชุดนี้นั้นยาวนานกว่าที่เคยเป็นมา (2481-2488) ทั้งกฎหมายกำหนดให้อยู่ในวาระเพียง 4 ปี แต่เนื่องจากสภาวะบ้านเมืองในยุคนั้นอยู่ในช่วงสงคราม ครั้นสมาชิกประเภทที่ 1 ครบวาระ ได้มีการต่ออายุออกไป 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ตามพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2485
อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ก็ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพลง เนื่องมาจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม ที่รัฐบาลเสนอเพื่อให้ลงโทษผู้ก่อให้เกิดการปกครองตามลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้สมาชิกประเภทที่ 1 สิ้นสุดอายุลง แต่สมาชิกประเภทที่ 2 ยังคงดำรงอยู่ โดย ปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2481 - 15 ตุลาคม 2488 ซึ่งเป็นวันที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส.(ประเภทที่ 1) ดังนี้ (พ.อ.หลวง พิบูลสงคราม ---> พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ---> นายทวี บุณยเกตุ ---> ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายทองดี จันทรกูล
ชุดที่ 5 (เลือกตั้ง 6 มกราคม 2489 และ 5 สิงหาคม 2489 - 8 พฤศจิกายน 2490)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 5 ประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่ 1 และสมาชิกประเภทที่ 2 จำนวนเท่ากัน โดยสมาชิกประเภทที่ 1 มีจำนวน 96 มาจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2489 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยวิธีแบ่งเขต แต่ละเขตเลือกตั้งมีผู้แทนราษฎรได้หนึ่งคน และถือเกณฑ์จำนวนประชากร 200,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
ส่วนสมาชิกประเภทที่ 2 ยังเป็นสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่อมาจากชุดที่ 4 จำนวน 95 คน และได้แต่งตั้งเพิ่มจำนวน 1 คน ในวันที่ 30 มกราคม 2489 เพื่อให้มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ 1 (96 คน)
แต่สมาชิกประเภทที่ 2 ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพลงเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2589 เนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งกำหนดให้มีสมาชิกพฤฒสภาขึ้นแทน โดยสมาชิกประเภทที่ 1 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อ
และผลจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทำให้มีการร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ.2489 ขึ้นมาประกาศใช้ และพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดเกณฑ์จำนวนประชากรต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคนลดลงจาก 200,000 คนเป็น 150,000 คน รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี จึงจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม 2489 เป็นการเลือกตั้งโดยตรง วิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ละเขตเลือกตั้งให้มีผู้แทนราษฎรได้หนึ่งคน ผลจากการเลือกตั้งทำให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีก 82 คน เป็น 178 คน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2489 - 8 พฤศจิกายน 2490 ก็สิ้นสุดสมาชิกภาพลง เนื่องจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดย "คณะทหารของชาติ" ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ
ระหว่างการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ชุดนี้ ได้มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นหลายประการ ได้แก่ การเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก โดยอาศัยมาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และการแต่งตั้ง "สมาชิกพฤฒสภา" เป็นครั้งแรกของประเทศ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2489 จำนวน 80 คน
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้แก่พสกนิกรทั้งประเทศ นั่นคือการ "เสด็จสวรรคต" ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลาประมาณ 9.00 น. และในคืนวันเดียวกันนั้นเอง ที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติเอกฉันท์ให้อัญเชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์ต่อไป ตามเฉลิมพระนามที่ประกาศในอีก 2 วันถัดมาว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช"
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส.(ประเภทที่ 1) ดังนี้ (พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ---> นายปรีดี พนมยงค์ --->พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายเทียม ณ สงขลา (เลือกตั้ง 6 ม.ค.2489)
- นายใย อุลิศ (เทียม ณ สงขลา) (เลือกตั้ง 5 ส.ค.2489)
ชุดที่ 6 (เลือกตั้ง 29 มกราคม 2491 - 29 พฤศจิกายน 2494)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2491 โดยเป็นการเลือกตั้งทางตรง แบบรวมเขต ถือเกณฑ์ราษฎร 200,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน มีผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนทั้งสิ้น จำนวน 99 คน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2491 - 29 พฤศจิกายน 2494 ก็หมดวาระลง เนื่องจาก "คณะบริหารประเทศชั่วคราว" นำโดย พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494
ระหว่างการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ได้มีเหตุการณ์กบฏเสนาธิการทหาร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2491 และกบฏวังหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นำโดยกลุ่มทหารเรือ อดีตรัฐมนตรี ฯลฯ ที่ยึดพระบรมมหาราชวังเป็นฐานที่มั่นต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล แต่ในที่สุดกลับตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ อีกทั้ง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ์ อดีตรัฐมนตรีที่รัฐบาลเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการก่อการครั้งนี้ ต้องถูกสังหารด้วยอาวุธปืนขณะถูกใส่กุญแจมือ ในคืนวันที่ 3 มีนาคมปีเดียวกัน
แต่หลังจากเหตุความวุ่นวายผ่านพ้นไปไม่นาน พสกนิกรชาวไทยก็ได้รับข่าวดีบ้าง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชพิธีหมั้นกับ "หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร" เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 ณ พระตำหนักที่ประทับเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในการนี้ พระราชธรรมนิเทศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้โทรเลขกราบบังคมทูลถวายพระพรไปในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย
กระทั่งวันที่ 28 เมษายน 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชพิธีราชาพิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์"
หลังจากนั้น ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ได้ทรงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์โดยสมบูรณ์ มีการประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศ รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร"
ทั้งนี้ ในระหว่างพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการตอบพระราชทานแด่ประชาชนชาวไทย อันเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
นอกจากนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี" ในวันเดียวกันนี้ด้วย
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส.(ประเภทที่ 1) ดังนี้ (พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ---> จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี)
ชุดที่ 7 (26 กุมภาพันธ์ 2495 - 25 กุมภาพันธ์ 2500)
หลังจาก "คณะบริหารประเทศชั่วคราว" นำโดย พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 คณะบริหารประเทศชั่วคราว ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 (ฉบับที่ 2) มาบังคับใช้ใหม่ เป็นเหตุให้รัฐสภามีสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ สมาชิกประเภทที่ 1 และสมาชิกประเภทที่ 2 มีจำนวนเท่ากัน
สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2495 จำนวน 123 คน ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางตรง แบบรวมเขต ถือเกณฑ์ราษฎร 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน ส่วนสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2494 จำนวน 123 คน รวมแล้วสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีจำนวน 246 คน ถือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 7
ระหว่างที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ ได้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างขึ้น เช่น ในวันที่ 26 กันยายน 2498 ได้มีการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2498" ตามข้อเสนอของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ส่งผลให้มีกลุ่มบุคคลสนใจจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างถูกกฎหมายขึ้นมากมาย อาทิเช่น พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาวนา พรรคอิสระ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในวันที่ 18 กันยายน 2499 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช และต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ในวันที่ 11 ธันวาคมปีเดียวกัน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ สิ้นสุดลงตามวาระ เนื่องจากสมาชิกประเภทที่ 1 สิ้นสุดสมาชิกภาพ แต่สมาชิกประเภทที่ 2 ยังดำรงอยู่ (เป็นสมาชิกประเภที่ 2 ใน ส.ส. ชุดที่ 8) จึงสรุปได้ว่า สมาชิกสภาฯ ชุดนี้ปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2495 - 25 กุมภาพันธ์ 2500 จึงพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส.(ประเภทที่ 1) ดังนี้ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายเทียม ณ สงขลา
- นายสมศักดิ์ สมบูรณ์ทรัพย์
ชุดที่ 8 (เลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 - 16 กันยายน 2500)
ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 กำหนดให้รัฐสภามีเพียงสภาเดียวคือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2494 จำนวน 123 คน และยังคงอยู่ในตำแหน่งเรื่อยมา (มีการจับสลาออกและแต่งตั้งแทน)
หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 7 (สมาชิกประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2495) หมดวาระลง ทางการภายใต้การบริหารของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 160 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วิธีรวมเขตจังหวัด ถือเกณฑ์จำนวนราษฎร 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
ทั้งนี้ การเลือกตั้งดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยทั่วไปว่ามีการทุจริตหลายรูปแบบ จนเรียกกันว่า "การเลือกตั้งสกปรก" เช่น มีการแอบอ้างชื่อไปลงคะแนนแทน การลงคะแนนซ้ำ การถูกตัดรายชื่อออกจากผู้มีสิทธิลงคะแนน ฯลฯ จนเกิดการรวมตัวประท้วงของนักศึกษาและประชาชนในคืนวันเลือกตั้ง กระทั่งขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ แม้ว่าการเลือกตั้งจะจบด้วยชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลอย่างพรรคเสรีมนังคศิลา
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ถือเป็นชุดที่ 8 ที่มีสมาชิกประเภทที่ 1 จำนวน 160 คน สมาชิกประเภทที่ 2 จำนวน 123 คน รวมเป็น 283 คน อย่างไรก็ตาม สมาชิกชุดนี้ ปฎิบัติหน้าที่ได้เพียง 7 เดือนกว่า ก็สิ้นสุดสมาชิกภาพลงในวันที่ 16 กันยายน 2500 เนื่องมาจากความวุ่นวายที่มีเรื่อยมาหลังการเลือกตั้ง จนขยายวงกว้างออกไปเรื่อย กระทั่งเกิดการยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยคณะทหาร ภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ด้วยเหตุผลที่รัฐบาลไม่อาจเป็นที่ยอมรับของประชาชน และไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศได้
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส.(ประเภทที่ 1) ดังนี้ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายเทียม ณ สงขลา
- นายปฐม โพธิแก้ว
- นายสมศักดิ์ สมบูรณ์ทรัพย์
ชุดที่ 9 (แต่งตั้ง 18 กันยายน 2500 และเลือกตั้ง 15 ธันวาคม 2500 - 20 ตุลาคม 2501)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 9 นี้ ประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500 จำนวน 160 คน และสมาชิกประเภทที่ 2 จำนวน 121 คน (แต่กฎหมายกำหนดให้มี 123 คน จึงได้แต่งตั้งเพิ่มภายหลังอีก 2 คน) รวมเป็น 283 คน
สำหรับสมาชิกประเภทที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2500 ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งระหว่างที่รอการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่ 2 ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1
กระทั่ง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500 รัฐบาล พล.อ.ถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) ได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ขึ้น เป็นการเลือกตั้งโดยตรง แบบรวมเขต ถือเกณฑ์ราษฎร 150,000 คน ต่อ ส.ส. 1 คน มี ส.ส. จำนวน 160 คน อยู่ในตำแหน่ง 5 ปี (ตามกฎหมายกำหนด)
แต่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 (ฉบับที่ 6) ได้บัญญัติว่า "ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดใดได้รับการศึกษาอบรมจบชั้นประถมศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในจังหวัดนั้น ก็ให้สมาชิกประเภทที่ 2 ออกจากตำแหน่งมีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีการเลือกตั้งในจังหวัดนั้น และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 เพิ่มขึ้น มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกประเภทที่ 2 ที่จะออกจากตำแหน่ง"
ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2501 คณะรัฐมนตรีได้ประกาศจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งได้รับการอบรมจนจบชั้นประถมศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2501 จึงมีการจับสลากสมาชิกประเภทที่ 2 (แต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2500) ออกจากตำแหน่งจำนวน 26 คน เพื่อให้มีการเลือกตั้งแทน
กระทั่ง วันที่ 30 มีนาคม 2501 ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 เพิ่มเติม แทนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่จับสลากออกจากตำแหน่ง โดยการเลือกตั้งจัดขึ้นใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพระนคร ธนบุรี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี รวมได้สมาชิกประเภทที่ 1 มาเพิ่ม 26 คน
สรุปแล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 9 นี้ มีสมาชิกประเภทที่ 1 จำนวน 186 คน และ สมาชิกประเภทที่ 2 จำนวน 97 คน รวมเป็น 283 คน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2500 - 20 ตุลาคม 2501 สิ้นสุดสมาชิกภาพลง เนื่องจากการรัฐประหารของคณะปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาล พล.อ.ถนอม กิตติขจร
ทั้งนี้ หลังจากทำรัฐประหารสำเร็จ ได้มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495, ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช 2498 และให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ส่งผลให้นับจากนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องว่างเว้นไปจากระบบรัฐสภายาวนานกว่า 10 ปี เนื่องจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่แทน
สำหรับ จ. ราชบุรี มี ส.ส.(ประเภทที่ 1) ดังนี้ (นายพจน์ สารสิน --->พล.อ.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายปฐม โพธิแก้ว
- ร.อ.ประลอง บูชา
- นายสมศักดิ์ สมบูรณ์ทรัพย์
ชุดที่ 10 (10 กุมภาพันธ์ 2512 - 17 พฤศจิกายน 2514)
หลังจากคณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ก็ได้นำธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ที่มีเพียง 20 มาตรา มาบังคับใช้ และได้ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 240 คน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2502 กระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511
นับเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี ที่สภาผู้แทนราษฎรต้องยุติบทบาทในระบอบรัฐสภาเมืองไทย จนกระทั่งมีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 (ฉบับที่ 8) ซึ่งในหมวด 6 มาตรา 71 บัญญัติไว้ว่า "รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทน"
และตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ในส่วนของสภาผู้แทนจะต้องประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง จึงนำมาสู่การประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกครั้ง โดยกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 จำนวนสมาชิกสภาผู้แทน 219 คน เป็นการเลือกตั้งทางตรง แบบรวมเขต ถือเกณฑ์ราษฎร 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ถือเป็นชุดที่ 10 อยู่ในตำแหน่งระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 - 17 พฤศจิกายน 2514 เนื่องจากคณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลที่ตัวเองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อนึ่ง ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดดังกล่าว ได้มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้น ดังนี้
- วันที่ 9 มิถุนายน 2513 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระนามพระอัฐิ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร ตามที่จารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และประกาศเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ตามที่จารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
- วันที่ 1 ธันวาคม 2513 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประกาศใช้ระเบียบการโดยสารเครื่องบินของสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากที่เคยได้สิทธิโดยสารรถไฟชั้นที่ 1 ทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้สามารถโดยสารทางเครื่องบินได้เช่นเดียวกับทางรถไฟ โดยให้เบิกเงินจากสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา
- วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2514 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 16 คน ถูกจับกุมที่ จ.ร้อยเอ็ด ในข้อหามั่วสุม สัมมนา และอภิปราย สภาผู้แทนราษฎรจึงได้อภิปรายตำหนิการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ และลงมติไม่อนุญาตให้จับกุมหรือเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 16 คน ไปสอบสวนในระหว่างสมัยประชุม
- วันที่ 9 มิถุนายน 2514 มีพระราชพิธีรัชดาภิเษก เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 25 ปี มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเหรียญรัชดาภิเษก ให้ชาวไทยประดับเหรียญนี้โดยทั่วกัน
- และในวันที่ 7 กันยายน 2514 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารรัฐสภา ซึ่งก่อสร้างขึ้นใหม่บริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่มีจำนวนมากขึ้น
- จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ก็สิ้นสุดสมาชิกภาพลง เนื่องจากคณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลที่ตัวเองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2506 แทนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมปีเดียวกัน) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการยึดอำนาจรัฐบาลตัวเองเพื่อขจัดศัตรูทางการเมือง และเพิ่มเสถียรภาพให้กับกลุ่มการเมืองฝ่ายตน ซึ่งคณะปฏิวัติยังได้ออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ซึ่งเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ยกเลิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี ส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้สิ้นสุดสมาชิกภาพลง
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส. ดังนี้ (จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายจรูญ วัฒนากร พรรคสหประชาไทย
- นายทวิช กลิ่นประทุม พรรคสหประชาไทย
- นายวินิจ วังตาล ไม่สังกัดพรรค
ชุดที่ 11 (26 มกราคม 2518 - 12 มกราคม 2519)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 11 ถือกำเนิดขึ้นจากกฎหมายเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ที่ถูกร่างขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่ 2 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2516 หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลามหาวิปโยคผ่านพ้นไปแล้ว
ย้อนกลับไป หลังจากที่จอมพลถนอม กิตติขจร เข้ายึดอำนาจรัฐบาลตัวเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ก็ได้สั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 แล้วนำธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 มาใช้แทน
ผลพวงจากการนำธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 มาใช้ ทำให้ต้องยกเลิกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร แล้วแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 299 คน ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทนเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2515 อีกทั้งยังแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 23 นาย โดยมีพลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นประธาน และมีคนของรัฐบาลร่วมอยู่มากมาย จนถูกมองว่าการตั้งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวเป็นเพียงการประวิงเวลาและต้องการควบคุมให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลมากขึ้น จนนำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) กระทั่งเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นการจลาจลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516
ผลสรุปที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้นคือการเดินทางออกนอกประเทศของ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พันเอกณรงค์ กิตติขจร พร้อมพวก ที่แลกด้วยการเสียชีวิตและการสูญหายของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังไม่อาจสรุปจำนวนได้อย่างแม่นยำแม้ในปัจจุบัน โดยในคืนวันเดียวกันนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
เมื่อศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาลพังครืนลง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดเดิมจึงถูกยุบและทำการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่จำนวน 18 คน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 216 โดยมี นายประกอบ หุตะสิงห์ เป็นประธานกรรมการ นอกจากนี้ยังมีการตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่จำนวน 299 คน เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2516 เนื่องจากสมาชิกชุดเดิมทยอยลาออกจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้นำมาสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517
หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในชุดนี้วันที่ 26 มกราคม 2518 เป็นการเลือกตั้งทางตรง แบบผสมระหว่างแบ่งเขตกับรวมเขต ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ในแต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 3 และไม่น้อยกว่า 2 คน ถือเกณฑ์ราษฎร 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน รวมได้ส.ส. จำนวน 269 คน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 11 ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 26 มกราคม 2518 - 12 มกราคม 2519 จึงสิ้นสุดสมาชิกภาพลงเนื่องจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2519 โดยมีสาเหตุมาจากพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลขาดเอกภาพทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส.ดังนี้ (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ----> ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายจรูญ วัฒนากร พรรคธรรมสังคม
- นายนิพนธ์ ศศิธร พรรคธรรมสังคม
- นายวินิจ วังตาล พรรคธรรมสังคม
- นายสมศักดิ์ สมบูรณ์ทรัพย์ พรรคเกษตรกร
ชุดที่ 12 (4 เมษายน 2519 - 6 ตุลาคม 2519)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีจำนวน 279 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2519 เป็นการเลือกตั้งทางตรง แบบผสม ระหว่างเขตกับแบ่งเขต ถือเกณฑ์ราษฎร 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2519 - 6 ตุลาคม 2519 ก็สิ้นสุดสมาชิกภาพลง รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียง 6 เดือน เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการชุมนุมประท้วงขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางกลับประเทศในฐานะสามเณร ของกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2519 เรื่อยมา จนเกิดการกระทบกระทั่งที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับระหว่าง ศนท. กับกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน นวพล และชมรมวิทยุสมัครเล่น ฯลฯ กระทั่งกลายเป็นภาพความขัดแย้งที่รุนแรงและชัดเจนในสังคมไทยขณะนั้น
เหตุการณ์ความวุ่นวายจากกรณีดังกล่าวมาถึงจุดแตกหักในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน นวพล ฯลฯ ที่มีอาวุธครบมือ รวมไปถึงประชาชนที่ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ได้เข้าร่วมปราบปรามนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ จึงใช้โอกาสนี้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพร้อมทั้งแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส. ดังนี้ (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายจรูญ วัฒนากร พรรคชาติไทย
- นายทวิช กลิ่นประทุม พรรคธรรมสังคม
- ร.ต.ธรรมนูญ ตัณฑะเตมีย์ พรรคประชาธิปัตย์
- นายนิพนธ์ ศศิธร พรรคธรรมสังคม
ชุดที่ 13 (22 เมษายน 2522 - 19 มีนาคม 2526)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 จำนวน 301 คน เป็นการเลือกตั้งทางตรง แบบผสม ทั้งรวมเขตและแบ่งเขต เขตเลือกตั้งหนึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 3 คน และไม่น้อยกว่า 2 คน ถือเกณฑ์ราษฎร 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2522 - 19 มีนาคม 2526 สิ้นสุดสมาชิกภาพ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2526 อันมีสาเหตุมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ระหว่างที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ดำรงตำแหน่ง ได้เกิดเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย หรือกบฏยังเติร์ก ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2524 นำโดย พล.อ.สัณฑ์ จิตรปฏิมา และ พ.อ.มนูญ รูปขจร (ปัจจุบันคือ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร) ที่หมายยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่สุดท้ายฝ่ายรัฐบาลได้หนีไปตั้งหลักที่กองทัพภาคที่ 2 จ.นครราชสีมา พร้อมนำกำลังเข้าปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ โดยมี พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นแกนนำเข้าปราบปราม
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส.ดังนี้
(พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ---> พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายจรูญ วัฒนากร พรรคสยามประชาธิปไตย
- นายจิระ มังคลรังษี ไม่สังกัดพรรค
- ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ พรรคประชาธิปัตย์ ลาออก 27 ก.พ.2526 ไม่มีการเลือกตั้งซ่อมเนื่องจากยุบสภา 19 มี.ค.2526
- นายทวี ไกรคุปต์ ไม่สังกัดพรรค ลาออก 27 ก.พ.2526 ไม่มีการเลือกตั้งซ่อมเนื่องจากยุบสภา 19 มี.ค.2526
ชุดที่ 14 (เลือกตั้ง 18 เมษายน 2526 - 1 พฤษภาคม 2529)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 14 นี้มีจำนวน 324 คน มาจากการเลือกตั้งทางตรง แบบผสม ระหว่างรวมเขตกับแบ่งเขต เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2526 ถือเกณฑ์ราษฎร 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2526 - 1 พฤษภาคม 2529 จึงสิ้นสุดสมาชิกภาพลงเนื่องจากการยุบสภาผู้แทนราษรเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 โดยมีสาเหตุมาจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดขนส่งทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2529 ที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้ ระหว่างที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ดำรงตำแหน่ง ได้เกิดเหตุการณ์กบฏเพื่อล้มล้างรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 นำโดย พล.อ.เสริม ณ นคร ซึ่งฉวยโอกาสขณะที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางไปต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลโดย พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้จนฝ่ายก่อการกบฏต้องหลบหนีไป
อนึ่ง พล.อ.เสริม ณ นคร และพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งมีชื่อเป็นแกนนำผู้ก่อการ ได้แจ้งภายหลังว่าถูก พ.อ.มนูญ รูปขจร กับพวก บังคับให้ร่วมก่อการกบฏครั้งนี้ โดย พ.อ.มนูญนั้นเป็นหนึ่งในแกนนำผู้ก่อการกบฏเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2524 ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ถูกนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยบริเวณดั้งจมูก ระหว่างเป็นประธานพิธีปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2528
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส. ดังนี้ (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายจรูญ วัฒนากร พรรคชาติไทย ถึงแก่กรรมเมื่อ 28 ก.พ.2529 ไม่มีการเลือกตั้งซ่อม เนื่องจากยุบสภา 1 พ.ค.2529
- นายจิระ มังคลรังษี พรรคชาติไทย
- ร.ต.ท.เชาริน ลัทธศักดิ์ศิริ พรรคชาติไทย
- นายทวี ไกรคุปต์ พรรคชาติไทย
หมายเหตุ ในสมัยนี้ นายทวิช กลิ่นประทุม พรรคชาติไทย เป็น ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม
ชุดที่ 15 (27 กรกฎาคม 2529 - 29 เมษายน 2531)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 15 มีจำนวน 347 คน มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 หลังจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 อันเนื่องมาจากปัญหาต่างๆ มากมาย โดยหลักๆ คือวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน อีกทั้งยังมีกรณีที่สภาฯ ไม่อนุมัติ "พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2529" ซึ่งสาระของพระราชกำหนดดังกล่าว กำหนดให้รถยนต์ดีเซลที่ซื้อใหม่ต้องเสียภาษีมากกว่าเดิม 2 เท่า เพื่อที่รัฐบาลจะไม่ต้องสั่งปรับราคาน้ำมัน
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 15 เป็นการเลือกตั้งทางตรง แบบแบ่งเขตและรวมเขต ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ในแต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 3 คน และไม่น้อยกว่า 2 คน ถือเกณฑ์ราษฎร 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2529 - 29 เมษายน 2531 จึงสิ้นสุดสมาชิกภาพลง เนื่องจากการยุบสภาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 โดยมีสาเหตุจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมรัฐบาลส่วนหนึ่งคัดค้านร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส. ดังนี้ (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายจิระ มังคลรังษี พรรคชาติไทย
- ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ พรรคชาติไทย
- นายทวิช กลิ่นประทุม พรรคชาติไทย
- นายทวี ไกรคุปต์ พรรคกิจสังคม
- นายสรอรรถ กลิ่นประทุม พรรคชาติไทย
ชุดที่ 16 (24 กรกฎาคม 2531 - 23 กุมภาพันธ์ 2534)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 357 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางตรง แบบรวมเขตและแบ่งเขต ถือเกณฑ์ราษฎร 150,000 คนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ถือเป็นชุดที่ 16 ของสภาผู้แทนราษฎร โดยดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 - 23 กุมภาพันธ์ 2534 สิ้นสุดสมาชิกภาพลงเนื่องจากการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534
สาเหตุสำคัญของการยึดอำนาจครั้งนี้ เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายกองทัพโดยเฉพาะกลุ่มนายทหาร จปร.5 ที่กระทบกระทั่งกับรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เรื่อยมา ถึงแม้ว่า พล.อ.ชาติชายจะทำการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่แต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อคณะทหารซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้า รสช. พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ร.อ.ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้า รสช. และ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขานุการ รสช. เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ประกาศล้มรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 และสั่งยุบสภาผู้แทนราษฎรลง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส. ดังนี้ (พล.อ.ชาติชาย ชุญหวัณ ---> นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี)
- นายจิระ มังคลรังษี พรรคชาติไทย
- นายทวิช กลิ่นประทุม พรรคชาติไทย
- นายทวี ไกรคุปต์ พรรคกิจสังคม
- พ.อ.วินัย เจริญจันทร์ พรรคปวงชนชาวไทย
- นายสรอรรถ กลิ่นประทุม พรรคชาติไทย
ชุดที่ 17 (22 มีนาคม 2535 - 30 มิถุนายน 2535)
หลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจการปกครองประเทศสำเร็จ ก็ได้เสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 292 คน เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมาเสร็จสิ้นประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 โดยกำหนดให้รัฐสภามี 2 สภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร จนนำมาซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งใหม่ในวันที่ 22 มีนาคม 2535
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้กำหนดให้มี ส.ส.จำนวน 360 คน เป็นการเลือกตั้งทางตรง แบบผสมระหว่างรวมเขตและแบ่งเขต ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งหนึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 3 คน และไม่น้อยกว่า 2 คน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เป็นสมาชิกชุดที่ 17 ของสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2535 - 30 มิถุนายน 2535 จึงสิ้นสุดสมาชิกสภาพลง เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2535 โดยมีสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 ที่เรียกกันภายหลังว่า "เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ"
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 โดยมีสาเหตุจากการชุมนุมประท้วงของประชาชนที่ไม่พอใจการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามครรลองระบอบประชาธิปไตย จนการชุมนุมประท้วงขยายวงกว้างออกไป โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม ที่มีการชุมนุมขับไล่ พล.อ.สุจินดา และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง (ส.ส.) โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำ ท่ามกลางประชาชนราว 5 แสนคน
สถานการณ์การประท้วงยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมบางส่วนได้เผาและยึดสถานที่ราชการ ทางรัฐบาลจึงนำกำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยวิธีการที่รุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บ สูญหาย และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความวุ่นวายทั้งหลายกลับมาสงบได้ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเรียก พล.อ.สุจินดา และพล.ต.จำลอง เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลารโหฐาน ในวันที่ 20 พฤษภาคม โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งได้ถ่ายทอดการดังกล่าวเมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. เป็นภาพที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและช่วยกันแก้ไขปัญหาประเทศชาติ จนเหตุการณ์เบาบางและสงบลง ซึ่งในอีก 4 วันต่อมา พล.อ.สุจินดา ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส. ดังนี้ (นายอานันท์ ปันยารชุน ---> พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี)
น.ส.กุสุมา ศรสุวรรณ พรรคพลังธรรม
นายขจรศักดิ์ จินตานนท์ พรรคพลังธรรม
ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ พรรคชาติไทย
นายทวิช กลิ่นประทุม พรรคชาติไทย
นายสรอรรถ กลิ่นประทุม พรรคชาติไทย
ชุดที่ 18 (13 กันยายน 2535 - 19 พฤษภาคม 2538)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 18 เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬผ่านพ้นไปเพียง 4 เดือน หลังจากนายอานันท์ ปันยารชุน ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง และถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ในรอบปี 2535 หรือที่เรียกกันติดปากว่า "การเลือกตั้ง 2535/2" นั่นเอง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2535 - 19 พฤษภาคม 2538 สิ้นสุดสมาชิกภาพ เนื่องจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล กรณี ส.ป.ก.4-01 จนก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินวันเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้ รัฐกำหนดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 ยังเป็นการเลือกตั้งทางตรง แบบแบ่งเขตและรวมเขต ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งหนึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 3 คน และไม่น้อยกว่า 2 คน มีจำนวน ส.ส.เข้าสู่สภา 360 คน ภายใต้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส.ดังนี้ (นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี)
นายจิระ มังคลรังษี พรรคชาติไทย
ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ พรรคชาติไทย
นายทวิช กลิ่นประทุม พรรคชาติไทย
นายทวี ไกรคุปต์ พรรคความหวังใหม่
นายสรอรรถ กลิ่นประทุม พรรคชาติไทย
ชุดที่ 19 (2 กรกฎาคม 2538 - 27 กันยายน 2539)
สืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล นายชวน หลีกภัย โดยเฉพาะปัญหา ส.ป.ก.4-01 จนทำให้นายชวนต้องยุบสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 สิ้นสุดสมาชิกภาพ จากนั้นจึงมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ขึ้นมาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางตรง แบบแบ่งเขตกับรวมเขต ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งหนึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 3 คน และไม่น้อยกว่า 2 คน ได้ ส.ส.เข้าสู่สภาจำนวน 391 คน นับเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 19
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2538 - 27 กันยายน 2539 จึงสิ้นสุดสมาชิกภาพลง เนื่องจาก นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ตัดสินใจการยุบสภาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539 โดยมีสาเหตุมาจากพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลขาดเอกภาพ ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศ
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส. ดังนี้ (นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี)
- ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ พรรคชาติไทย
- นายทวี ไกรคุปต์ พรรคประชาธิปัตย์
- นายบุญมาก ศิริเนาวกุล พรรคประชาธิปัตย์
- นายวิจัย วัฒนาประสิทธิ์ พรรคนำไทย
- นายสรอรรถ กลิ่นประทุม พรรคชาติไทย
ชุดที่ 20 (17 พฤศจิกายน 2539 - 9 พฤศจิกายน 2543)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 20 นี้ มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 จำนวน 393 คน โดยเป็นการเลือกตั้งทางตรงแบบผสม จังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 3 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 3 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง ในแต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 3 คน และไม่น้อยกว่า 2 คน โดยถือเกณฑ์จำนวนราษฎร 150,000 คนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 - 9 พฤศจิกายน 2543 จึงสิ้นสุดสมาชิกภาพลง เนื่องจากนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 อันเป็นเวลาก่อนสิ้นสุดวาระเพียงไม่กี่วัน และเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งในระบบใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540
ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มแรกของการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ตรงกับการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ต้องประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง กระทั่งรัฐบาลตัดสินใจประกาศลดค่าเงินบาทเพื่อแก้ปัญหา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 แต่กลับยิ่งส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน การคลังของประเทศ และการดำรงชีพของประชาชน จนในที่สุด พล.อ.ชวลิต ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน พร้อมกับวีรกรรมของ "กลุ่มงูเห่า" ในพรรคประชากรไทย ให้กล่าวขานมาจนทุกวันนี้
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส. ดังนี้ (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ---> นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี)
นายทวี ไกรคุปต์ พรรคประชาธิปัตย์
นายบุญมาก ศิริเนาวกุล พรรคประชาธิปัตย์
นายวิจัย วัฒนาประสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์
นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี พรรคชาติพัฒนา
นายสรอรรถ กลิ่นประทุม พรรคความหวังใหม่
ชุดที่ 21 (6 มกราคม 2544 - 5 มกราคม 2548)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 21 นี้ มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 เป็นการเลือกตั้งในระบบใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 โดยเป็นการเลือกตั้งทางตรงแบบผสม แบ่งการเลือกตั้งออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน จำนวน 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อ (Party List) จำนวน 100 คน รวมจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 500 คน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2544 - 5 มกราคม 2548 โดยเป็นการดำรงตำแหน่งควบคู่ไปกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับเสียงข้างมากในขณะนั้น (248 เสียง) ซึ่งถือเป็นรัฐบาลแรกในประวัติศาสตร์ที่มาจากการเลือกตั้ง และสามารถดำรงตำแหน่งครบ 4 ปีตามวาระ
ทั้งนี้ ระหว่างการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ขึ้นหลายเหตุการณ์ ได้แก่ การเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546, การปล้นปืนจากค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 กระทั่งบานปลายกลายเป็นความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ (จ.พังงา ภูเก็ต สตูล ระนอง ตรัง กระบี่ และชุมพร) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในนั้นคือ คุณพุ่ม เจนเซ่น พระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
สำหรับ จ.ราชบุรี มี ส.ส. ดังนี้ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)
- นางกอบกุล นพอมรบดี พรรคชาติไทย (ต่อมาไปสังกัดพรรคไทยรักไทย เมื่อ 21 ก.ค.2547)
- นายบุญลือ ประเสิรฐโสภา พรรคไทยรักไทย
- นางประไพพรรณ เส็งประเสริฐ พรรคประชาธิปัตย์ (ลาออกเมื่อ 7 ก.ย.2547)
- นายวิจัย วัฒนาประสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ (ลาออกเมื่อ 11 ส.ค.2547)
- นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา พรรคไทยรักไทย
- นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย เลื่อนบัยชีรายชื่อขึ้นแทนนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เนื่องจากไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อ 20 มี.ค.2544
- นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย - ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อ 8 พ.ย.2546
- นายสรอรรถ กลิ่นประทุม (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย - ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อ 19 มี.ค.2544
ชุดที่ 22 (6 กุมภาพันธ์ 2548-24 กุมภาพันธ์ 2549)
สืบเนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 21 ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ได้สิ้นสุดสมาชิกภาพตามวาระ (5 มกราคม 2548) จึงมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2548 โดยกำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นวันเลือกตั้ง
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งทางตรงแบบผสม โดยแบ่งออกเป็น 2 ระบบเช่นเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 คือ ระบบแบ่งเขต เขตละ 1 คน จำนวน 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อพรรค (Party List) จำนวน 100 คน รวมทั้งสิ้น 500 คน
เป็นที่น่าสังเกตุว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฎว่า พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น (ส.ส. 377 คน) ได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งแรก ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ติดต่อกัน แต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้อยู่ได้เพียงปีเศษก็สิ้นสุดสมาชิกภาพ เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เป็นชุดที่ 22 ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 – 24 กุมภาพันธ์ 2549
สำหรับ จ.ราชบุรี มีรายชื่อ ส.ส. ดังนี้ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)
- นางกอบกุล นพอมรบดี พรรคไทยรักไทย
- นายบุญลือ ประเสริฐโสภา พรรคไทยรักไทย
- น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ พรรคไทยรักไทย
- นายวัฒนา มังคลรังษี พรรคไทยรักไทย
- นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา พรรคไทยรกไทย
- น.ส.ชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย
- นางประไพพรรณ เส็งประเสริฐ (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย
- นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย
- นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย
- นายสรอรรถ กลิ่นประทุม (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย - ได้เป็นรัฐมนตรี (10 เม.ย.2548)
ชุดที่ 23 (ว่าที่ ส.ส. -เลือกตั้ง 2 เมษายน 2549-การเลือกตั้งเป็นโมฆะ)
วิกฤตการณ์การเมืองไทยเริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2548 ภายหลังจากสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ถอดรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกจากผังรายการ นายสนธิจึงหันไปจัดรายการนอกสถานที่โดยมีผู้สนใจเข้ารับฟังจำนวนมากขึ้นทุกขณะ จนกลายสภาพเป็นม็อบขับไล่รัฐบาลจำนวนนับหมื่นคน
สถานการณ์การเมืองยังเข้มข้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2549 เมื่อตระกูลชินวัตรและตระกูลดามาพงศ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดของตนในบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับกองทุนเทมาเสกของรัฐบาลสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 โดยไม่มีการเสียภาษี
หลังจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลก็อยู่ในภาวะตั้งรับมาโดยตลอด เพราะไม่สามารถตอบคำถามของสังคมให้กระจ่างชัดได้ ประกอบกับกลุ่มขับไล่รัฐบาลก็จัดชุมนุมใหญ่เพื่อกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณลาออกจากตำแหน่ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 พ.ต.ท.ทักษิณก็ประกาศยุบสภาฯ และกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 2 เมษายน 2549 สร้างความตกใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งตัวอดีต ส.ส.ของพรรคไทยรักไทยเอง และอดีต ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณยืนยันมาตลอดว่าจะไม่ยุบสภา ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่สามารถเตรียมตัวได้ทัน
อดีตพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน จึงได้ปฏิเสธที่จะส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็แสดงออกให้เห็นในหลายวาระว่า ไม่มีความเป็นกลาง เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคไทยรักไทยอยู่เสมอ
เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคไทยรักไทยจึงจับมือกับพรรคการเมืองขนาดเล็กส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่สนใจการบอยคอตของอดีต 3 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคไทยรักไทยจึงไม่มีคู่แข่งจากพรรคการเมืองอื่น หากแต่ต้องแข่งกับความศรัทราของประชาชน เพื่อให้ได้คะแนนเสียงสูงกว่าเกณฑ์ 20% ในเขตที่พรรคส่งคนลงสมัครเพียงคนเดียว
นอกจากนี้ ในส่วนของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อก็มีปัญหาเช่นกัน เมื่อ นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ทำให้หมดสมาชิกภาพ พรรคไทยรักไทยจึงเหลือผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพียง 99 คน เท่านั้น
ต่อมา เมื่อการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 สิ้นสุดลง ปรากฎว่ามีถึง 40 เขตเลือกตั้ง ที่พรรคไทยรักไทยลงสมัครเพียงพรรคเดียว แต่ไม่สามารถผ่านเกณฑ์ 20% ได้ กกต.จึงจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เมษายน 2549 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีบางเขตที่ผู้สมัครพรรคเล็กย้ายเขตเลือกตั้งมาประกบกับพรรคไทยรักไทย เพื่อที่ไม่ต้องใช้เกณฑ์ 20% ตัดสิน แต่ก็ยังมีบางเขตที่พรรคไทยรักไทยต้องส่งผู้สมัครเพียงคนเดียว
ภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 23 เมษายน ก็ยังคงมีอีก 14 เขตการเลือกตั้ง ใน 9 จังหวัด ที่ยังไม่มีผู้ชนะ กกต.จึงต้องประกาศให้จัดการเลือกตั้งอีกเป็นรอบที่ 3 ในวันที่ 29 เมษายน 2549
แต่ยังไม่ทันถึงวันเลือกตั้ง ในวันที่ 28 เมษายน ศาลปกครองก็มีคำสั่งให้ระงับการเลือกตั้งในวันที่ 29 เมษายน ไว้ชั่วคราว เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 และ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จากนั้น ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมีมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 เสียง เห็นว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นต้นมา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดการการเลือกตั้งจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งทั้งหมด (โมฆะ) และมีคะแนน 9 - 5 เสียง ให้มีการเลือกตั้งใหม่
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเช่นนี้ จึงถือว่าผู้ที่ชนะการเลือกตั้งทั้งหมดไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ทีมงานผู้จัดทำได้รวบรวมรายชื่อผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้มาไว้อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีทั้งสิ้น 485 คน เนื่องจากมี 14 เขต ที่ยังไม่มีผู้ชนะ และในระบบบัญชีรายชื่อมีรายชื่อจากพรรคไทยรักไทยเพียง 99 คน
สำหรับ จ.ราชบุรี มีรายชื่อ ว่าที่ ส.ส. ดังนี้ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)
- นางกอบกุล นพอมรบดี พรรคไทยรักไทย
- นายบุญลือ ประเสริฐโสภา พรรคไทยรักไทย
- น.ส.ปารีนา ไกรคุปต์ พรรคไทยรักไทย
- นายวัฒนา มังคลรังษี พรรคไทยรักไทย
- นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา พรรคไทยรักไทย
- นางประไพพรณ เส็งประเสริฐ (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย
- น.ส.ชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย
- นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย
- นายสรอรรถ กลิ่นประทุม (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย
- นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (บัญชีรายชื่อ) พรรคไทยรักไทย
ชุดที่ 23 (เลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550-ปัจจุบัน)
ผลจากความเห็นที่แตกแยกทางการเมืองในสังคมไทย จนนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้ระบอบรัฐสภาต้องชะงักลงเป็นเวลาปีกว่า โดยระหว่างนี้ระบอบรัฐสภามีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทน จนกระทั่งเกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2550) จึงมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2550
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งทางตรงแบบผสม โดยแบ่งออกเป็น 2 ระบบ กล่าวคือ ระบบแรกเป็นระบบสัดส่วน โดยแบ่งพื้นที่จังหวัดที่ 76 จังหวัดออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัดที่ ส.ส.ได้กลุ่มละ 10 คน รวมเป็น 80 คน ส่วนระบบที่สองเป็นระบบแบ่งเขต แต่ละเขตมี ส.ส.ได้ไม่เกิน 3 คน ส.ส.ในระบบนี้มี 400 คน รวมสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจำนวน 480 คน
สำหรับ จ.ราชบุรี มีรายชื่อ ส.ส.ดังนี้ (นายสมัคร สุนทรเวช --->นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ---> นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)
- นายบุญลือ ประเสริฐโสภา พรรคพลังประชาชน
- นางปารีณา ปาจรียางกูร พรรคชาติไทย
- นายมานิต นพอมรบดี พรรคมัชฌิมาธิบไตย
- นายสามารถ พิริยะปัญญาพร พรรคประชาธิปัตย์
- น.ส.ปรีชญา ขำเจริญ พรรคประชาธิปัตย์
- ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ (แบบสัดส่วน) พรรคพลังประชาชน
หมายเหตุ หากต้องการดูแบบย่อ คลิก
ที่มา
ห้องสมุดออนไลน์ My First Info. การเมือง : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. [Online]. Available : https://politic.myfirstinfo.com/default.aspx. [2553 ตุลาคม 27 ].