วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ทำเนียบสมาชิกวุฒิสภา (แบบเลือกตั้ง) จังหวัดราชบุรี

ชุดที่ 8 (เลือกตั้ง 4 มีนาคม 2543 - 20 มีนาคม 2549)
วุฒิสภาคณะนี้มีที่มาที่แตกต่างจากวุฒิสภาคณะก่อนๆ เนื่องจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 อันเป็นฉบับที่ว่ากันว่า ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุด ได้กำหนดไว้ในมาตรา 121 ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 200 คน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมือง นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกสมาชิกวุฒิสภา เอง

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังได้มอบอำนาจแก่สมาชิกวุฒิสภาให้สามารถถอดถอนบุคคลสำคัญที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า คุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภามีความสำคัญมาก เพราะต้องกลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจการบริหารของรัฐบาลและองค์กรอิสระได้

และในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ องค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นมาตามข้อบัญญัติรัฐธรรมนูญซึ่งก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เข้ามาเป็นผู้ควบคุมการดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างโปร่งใส (แต่เดิมในการเลือกตั้ง ส.ส. การจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)

พระราชกฤษฎีกาจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2543 แต่หลังจากนั้น กกต.ได้จัดให้มีการเลือกตั้งอีกหลายครั้ง จนกระทั่งได้สมาชิกวุฒิสภาครบ 200 คน และทำการประชุมเลือก ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา อีก 2 คน

ตลอดระยะเวลาที่สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้อยู่ในตำแหน่ง ได้มีสมาชิกบางคนลาออกและถึงแก่อนิจกรรม ก่อนหมดวาระ 90 วัน จึงไม่มีการเลือกตั้งซ่อม ทำให้สมาชิกเหลือไม่ครบ 200 คน วันที่ครบวาระ 20 มีนาคม พ.ศ.2549

อย่างไรก็ตาม ครั้นถึงวันหมดวาระการดำรงตำแหน่ง สมาชิกชุดใหม่ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งต่อ ยังไม่ได้จัดการเลือกตั้ง สมาชิกชุดนี้จึงต้องรักษาการไปจนกว่าจะได้สมาชิกชุดใหม่ครบ 200 คน แต่พอจัดการเลือกตั้งเสร็จแล้ว (19 เมษายน พ.ศ.2549) กกต.ซึ่งเป็นผู้จัดการเลือกตั้งและได้ประกาศรับรอง ส.ว.ไปแล้ว 180 คน ก็ถูกศาลตัดสินจำคุกคนละ 4 ปี และตัดสิทธิทางการเมืองคนละ 10 ปี อันเนื่องมาจากการถูกฟ้องร้องเมื่อตอนจัดการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส. ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 ทำให้พ้นจากตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จึงไม่สามารถทำงานได้ ต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่มารับรองต่อ

แต่ถึงกระนั้น เมื่อวุฒิสภารักษาการชุดนี้ได้ลงมติเลือก กกต.ใหม่ 5 คน แล้ว ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2549 แต่ยังไม่ทันที่จะมีการโปรดเกล้าฯ เข้ารับตำแหน่ง คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็เข้ายึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 พร้อมกับมีประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 3 ทำให้สมาชิกวุฒิสภาชุดรักษาการต้องยุติบทบาทลงทันที

สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดราชบุรี
  1. ร.ต.ท.เชาวริน  ลัทธศักดิ์ศิริ
  2. นายนภินทร ศรีสรรพางค์
  3. นายปราโมทย์  ไพชนม์
ชุดที่ 9 (เลือกตั้ง 19 เมษายน 2549 - 19 กันยายน 2549)
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ สืบเนื่องจากสมาชิกวุฒิสภา ชุดที่ 8 ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 4 มีนาคม 2543 สิ้นสุดสมาชิกภาพเนื่องจากครบวาระในวันที่ 21 มีนาคม 2549 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงกำหนดให้วันที่ 19 เมษายน 2549 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป แต่ระหว่างที่สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ยังไม่เข้ารับหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาชุดเดิมยังคงรักษาการอยู่

ก่อนการเลือกตั้ง ส.ว.จะเกิดขึ้น คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้น อดีตพรรคการเมืองฝ่าย คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งกับพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียวในการเลือกตั้งครั้งนั้น และเป็นรัฐบาลรักษาการ

ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 4 คน (1 คนเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้) อันประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ กรรมการการเลือกตั้ง นายปริญญา นาคฉัตรีย์ กรรมการการเลือกตั้ง และนายวีระชัย แนวบุญเนียร กรรมการการเลือกตั้ง ถูกข้อครหาว่า ไม่เป็นกลางทางการเมือง กล่าวคือ มีการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งบางข้อที่ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ จนถูกฟ้องร้องในหลายคดี

นอกจากนี้ ยังถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประท้วงขับไล่ให้ออกจากตำแหน่ง เพื่อให้มีการสรรหา กกต.ใหม่มาทำหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจาก กกต.ทั้ง 4 คน แถมยังเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันที่ 19 เมษายน 2549 อีกด้วย

แม้กลางการประท้วงขับไล่ กกต. จะมีอยู่ แต่ กกต.ทั้ง 4 คน ก็จัดการเลือกตั้งจนสำเร็จ พร้อมกับประกาศรับรองรายชื่อ ส.ว.ชุดใหม่ได้ถึง 180 คน ก่อนจะถูกศาลอาญาตัดสินว่ามีความผิดฐานจัดการเลือกตั้ง ส.ส.โดยมิชอบ มีการออกหนังสือไปยังผู้อำนวยการเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครที่ยังไม่ได้รับการรับรองผลการเลือกตั้งในเขตหนึ่ง ไปสมัครอีกเขตหนึ่งได้ โดยทั้ง 3 คน (พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ลาออกก่อน) ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี จึงทำให้รายชื่อว่าที่ ส.ว.อีก 20 คนที่เหลือ ไม่ได้รับการรับรอง และยังส่งผลให้ไม่สามารถเปิดการประชุม ส.ว.ชุดนี้

ทางคณะผู้จัดทำข้อมูล เห็นว่าแม้จะไม่มีการประกาศรับรองผล แต่เพื่อมิให้ข้อมูลเกิดขาดตกไป จึงเปิดเผยรายชื่อว่าที่ ส.ว.อีก 20 คน ที่ยังไม่ได้รับการประกาศรับรอง ตามผลการเลือกตั้งวันที่ 19 เมษายน 2549 เท่านั้น ขอให้ท่านผู้ใช้ข้อมูลชุดนี้รับทราบไว้ก่อนว่า รายชื่อ ส.ว.ชุดนี้เป็นรายชื่อที่ยังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ส.ว.ชุดนี้ทำงานได้ถึงแค่วันที่ 19 กันยายน 2549 เท่านั้น เนื่องจากคคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเข้ายึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับมีประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 3 ซึ่งทำให้สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ต้องสิ้นสุดสมาชิกสภาพทันที

สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดราชบุรี
  1. นายเกชา  ศักดิ์สมบูรณ์
  2. นายโกเมศ  แดงทองดี
  3. นายวันชัย  ธีระสัตยกุล
ชุดที่ 10 (สรรหา 19 กุมภาพันธ์ 2551 และเลือกตั้ง 2 มีนาคม 2551)
ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 10 สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แล้วเกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2550) โดยมาตรา 111 กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวม 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน (76 คน) และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้น หักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (74 คน)

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ ได้ทำหน้าที่สรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา โดยได้ประกาศรายชื่อจำนวน 74 คน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2551 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไปทั้ง 76 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน ทำให้วุฒิสภามีสมาชิกรวม 150 คน เป็นวุฒิสภาชุดที่ 10 โดยถือวันที่ว่าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 คือวันเริ่มต้นการทำงานของวุฒิสภาชุดนี้

สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดราชบุรี
  1. นายเกชา  ศักดิ์สมบูรณ์ (เลือกตั้ง)
ที่มาห้องสมุดออนไลน์ My First Info. การเมือง : สมาชิกวุฒิสภา. [Online]. Available : https://politic.myfirstinfo.com/senate.aspx. [2553 ตุลาคม 29 ].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น